เพลงหน้าพาทย์

เพลงประเภทหนึ่งที่ใช้บรรเลงในการแสดงกิริยาของมนุษย์ สัตว์ วัตถุ หรือธรรมชาติทั้งกิริยาที่มีตัวตน กิริยาสมมุติ กิริยาที่เป็นปัจจุบันและกิริยาที่เป็นอดีต เช่น บรรเลงในการแสดงกิริยา ยืน เดิน นอน ของมนุษย์และสัตว์ การเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น หรือ สูญไปของวัตถุและธรรมชาติ

 การบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ในการแสดงกิริยาที่เป็นปัจจุบัน มีทั้งกิริยาที่มีตัวตนและกิริยาสมมุติ การบรรเลงในการแสดงกิริยาที่มีตัวตน เช่น บรรเลงเพลงคุกพาทย์ เมื่อโขนตัวหนุมานรำทำท่าทางแผลงอิทธิฤทธิ์หาวเป็นดาวเป็นเดือน การบรรเลงในการแสดงกิริยาสมมุติ เช่น บรรเลงเพลงเสมอในการแสดงกิริยาของพระลักษมณ์ที่เสด็จออกจากที่เฝ้าเข้าสู่ห้องสรง แม้จะไม่มีตัวพระลักษมณ์ออกมารำจริง ๆ หรือในการไหว้ครูโขนละครและดนตรี ขณะที่ผู้เป็นประธานกล่าวโองการเชิญเทวดาองค์ใดองค์หนึ่ง เป็นต้นว่าพระประคนธรรพ เมื่อกล่าวจบก็บอกให้ปี่พาทย์บรรเลงเพลงตระพระประคนธรรพ เพลงตระพระประคนธรรพที่ปี่พาทย์บรรเลงจึงสมมุติว่าเป็นการแสดงกิริยาที่พระประคนธรรพเสด็จมาในขณะนั้น

 การบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ในการแสดงกิริยาที่เป็นอดีตมีแต่กิริยาสมมุติ เช่น การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการเทศนามหาเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ ตามประเพณีเมื่อพระเทศน์จบลงกัณฑ์หนึ่ง ๆ ปี่พาทย์จะต้องบรรเลงเพลงตามกิริยาของท้องเรื่องในกัณฑ์ที่จบลงนั้น เช่น กัณฑ์กุมาร ปี่พาทย์จะต้องบรรเลงเพลงเชิดฉิ่งโอด (คือเพลงเชิดฉิ่งกับเพลงโอดสลับกัน) ซึ่งแสดงกิริยาของพระกุมารชาลีกับกัณหาที่ถูกชูชกบังคับให้เดินโดยเฆี่ยนตีขู่เข็ญไปตลอดทาง พระกุมารทั้ง ๒ ก็วิ่งบ้างเดินบ้างร้องไห้ไปบ้าง ตามเนื้อเรื่องที่พระได้เทศน์จบไปแล้วนั้น

 นอกจากนี้ยังมีการบรรเลงเพลงหน้าพาทย์แสดงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น บรรเลงเพลงโล้ ตอนดอกบัวลอยน้ำ บรรเลงเพลงรัว ตอนภูเขาระเบิด

 เพลงหน้าพาทย์มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ที่เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงคือตะโพนและกลองทัด กล่าวคือ เพลงใดที่มีตะโพนและกลองทัดบรรเลงควบคู่กัน ถือว่าเป็นเพลงหน้าพาทย์ทั้งสิ้น

 เพลงหน้าพาทย์แบ่งระดับความสำคัญออกได้เป็น ๓ ระดับ คือ

 ๑. เพลงหน้าพาทย์ธรรมดา ใช้กับตัวละครชั้นสามัญทั่วไปที่ไม่มีความสำคัญมากนัก เช่น เพลงเสมอ

 ๒. เพลงหน้าพาทย์ชั้นกลาง ใช้กับตัวละครที่มีความสำคัญมากขึ้น เช่น เพลงเสมอข้ามสมุทร เพลงเสมอเถร เพลงเสมอมาร

 ๓. เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ใช้กับตัวละครที่สูงศักดิ์ เช่น เพลงบาทสกุณี (เสมอตีนนก) เพลงดำเนินพราหมณ์

 การเรียกเพลงประเภทนี้ว่า “หน้าพาทย์” น่าจะมาจากศิลปินฝ่ายโขนละครเป็นผู้เรียกก่อน เพราะการร่ายรำเข้ากับเพลงประเภทนี้ ผู้รำจะต้องยึดถือจังหวะทำนองเพลง หน้าทับ และไม้กลองของเพลงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องรำให้มีทีท่าเข้ากันสนิทกับทำนองและจังหวะ ต้องมีความสั้นยาวพอดีกับเพลง ต้องถือว่าเพลงที่บรรเลงเป็นหลัก เป็นหัวหน้า เป็นสิ่งที่จะต้องรำตาม เมื่อผู้รำต้องการจะหยุดหรือเปลี่ยนเพลง ก็ต้องให้พอเหมาะกับประโยค หรือหน้าทับ หรือไม้กลองของเพลง จะรำป้องหน้าหรือเปลี่ยนไปตามความพอใจไม่ได้ จึงเรียกเพลงประเภทนี้ว่า “หน้าพาทย์” และเรียกการรำนั้นว่า “รำหน้าพาทย์”