คงคาเดือด

Arfeuillea arborescens Pierre

ชื่ออื่น ๆ
ช้างเผือก, ตะไลคงคา (เหนือ); ตะไล, หมากเล็กหมากน้อย (ตะวันตกเฉียงใต้); สมุยกุย (ตะวันออก)
ไม้ต้นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อย (๒-)๔-๘ ใบ เรียงสลับ รูปไข่ ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตาม ซอกใบใกล้ปลายยอด มีขนหนาแน่น กลิ่นหอม กลีบเลี้ยง สีเขียวอมแดง กลีบดอกสีขาว ขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยงมาก ผลแบบผลแห้งแตก เปลือกบาง มีปีก เมล็ดรูปไข่กลับ มีขนสีน้ำตาล ไม่มีเยื่อหุ้มเมล็ด

คงคาเดือดเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกสีเทาหรือสีเทาอมขาว

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ก้านใบยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. แกนกลางยาว ๓.๕-๕.๕ ซม. ทั้งก้านใบ และแกนกลางมีขนใบย่อย (๒-)๔-๘ใบ เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๒-๘.๕ ซม. ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนมน แหลมหรือเบี้ยว ขอบเรียบหรือจักมนห่าง แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ โคนแผ่นใบ และเส้นกลางใบทั้ง ๒ ด้านมีขนประปราย เส้นแขนงใบ ข้างละ ๗-๘ เส้น ก้านใบย่อยยาวได้ถึง ๕ มม. มีขน

 ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด มีขนหนาแน่น ใบประดับรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๗-๙ มม. มีขนดอกมีกลิ่นหอม สมมาตรด้านข้าง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๑.๕-๑.๘ ซม. ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวอมแดง มีขนรูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๕.๕-๙ มม. ในดอกตูมเรียงแบบซ้อนเหลื่อม กลีบดอกสีขาว มี ๒-๕ กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยงมาก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๓-๔ มม. เกสรเพศผู้ ๖-๙ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๖-๙ มม. สีเขียว อับเรณูสีส้ม จานฐานดอกแยกจากวงเกสรเพศผู้รูปคล้ายปาก มีรังไข่ที่ไม่เจริญ รูปกลม ขนาดเล็ก มีขนดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยง และกลีบดอกเหมือนของดอกเพศผู้


มีเกสรเพศผู้ที่ไม่เจริญ ยาว ๑-๒ มม. ล้อมรอบรังไข่ จานฐานดอกอยู่ระหว่างกลีบดอกกับรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๕ มม. มีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด พลาเซนตารอบแกนร่วม ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็ก ไม่เป็นพู

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงเกือบกลม กว้าง ๓-๔.๓ ซม. ยาว ๓.๒-๕.๕ ซม. เปลือกบาง พอง และมีปีก ปีกผลกว้างประมาณ ๒ ซม. เมล็ดรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๖-๗ มม. มีขนสีนํ้าตาล ไม่มีเยื่อหุ้มเมล็ด

 คงคาเดือดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคกลาง พบตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ โดยเฉพาะตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑๐-๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่ลาว

 ประโยชน์ ใบและเปลือกต้มกินแก้ไข้ ต้นนำมาป่นใช้ฆ่าพยาธิ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คงคาเดือด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Arfeuillea arborescens Pierre
ชื่อสกุล
Arfeuillea
คำระบุชนิด
arborescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1905)
ชื่ออื่น ๆ
ช้างเผือก, ตะไลคงคา (เหนือ); ตะไล, หมากเล็กหมากน้อย (ตะวันตกเฉียงใต้); สมุยกุย (ตะวันออก)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา