ไชหิน

Akschindlium godefroyanum (Kuntze) H. Ohashi

ชื่ออื่น ๆ
การะ (ส่วย-สุรินทร์); ตองหมอง, ตางหมอง (อุบลราชธานี); ไม้ไชหิน (ชัยภูมิ); เรียง, เรียะ (เขมร-สุรินทร
ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง กิ่งกลม มีขนสีเทาเงินหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน ใบย่อยลดรูปเหลือ ๑ ใบ รูปรี หูใบรูปลิ่มแคบ รูปใบหอกหรือรูปไข่ โค้งงอ ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ดอกออกเป็นกระจุกตามแกนช่อ กระจุกละ ๒-๓ ดอก สีม่วงแดง รูปดอกถั่ว ผลแบบฝักหักข้อ รูปขอบขนานเมล็ดรูปคล้ายไต

ไชหินเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง ๒ ม. กิ่งกลม มีขนสีเทาเงินหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน ใบย่อยลดรูปเหลือ ๑ ใบ รูปรี กว้าง ๒.๔-๙.๙ ซม. ยาว ๕.๕-๑๖.๔ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนมนหรือตัดขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างมีขนสีเทาเงินประปรายถึงหนาแน่นมีนวลเล็กน้อย เส้นกลางใบเป็นสันนูนทั้ง ๒ ด้าน มีขนสีเทาเงินหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๑๖-๒๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ด้านบนค่อนข้างเรียบด้านล่างเป็นสันนูน มีขนสีเทาเงินประปราย ก้านใบยาว ๑.๗-๒.๙ ซม. มีปีกกว้าง ๑-๑.๕ มม. มีขนสีเทาเงินหนาแน่น หูใบรูปลิ่มแคบ รูปใบหอก หรือรูปไข่โค้งงอ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑-๔ มม. ปลายแหลม ขอบมีขนสีเทาเงินประปราย

 ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๒๕-๓๓ ซม. ดอกออกเป็นกระจุกตามแกนช่อ กระจุกละ ๒-๓ ดอก สีม่วงแดง รูปดอกถั่ว ดอกตูมรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๔-๔.๕ มม. ก้านดอกยาว ๓-๖ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๓-๔ มม. ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๔ แฉก มีขนสีเหลืองอ่อนหนาแน่น กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปไข่กลับถึงรูปเกือบกลม กว้าง ๕-๖.๕ มม. ยาว ๗-๘.๕ มม. ปลายมนหรือแหลม โคนกลีบคอดเป็นก้านสั้น ขอบเรียบ ผิวเกลี้ยง โคนกลีบด้านในมีก้อนนูนเล็ก ๆ ๒ ก้อน กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๖-๙ มม. ปลายมน โคนกลีบคอด มีติ่ง ขอบย่นเล็กน้อย กลีบคู่ล่างรูปไข่กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาว ๕.๕-๗ มม. ปลายแหลม โคนกลีบคอด มีติ่งสั้น ๆ ขอบเรียบ ผิวเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แยกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๑ เกสร


อีกกลุ่มหนึ่งมี ๙ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นกาบ กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๖-๘ มม. เกลี้ยงสีน้ำตาลแดง อับเรณูมี ๒ พู ติดที่ฐาน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาวประมาณ ๓.๕ มม. มีขนสีเหลืองอ่อนหนาแน่นมี ๑ ช่อง ออวุล ๔-๘ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย รูปเส้นด้าย ยาวประมาณ ๓ มม. โค้งงอเล็กน้อยเกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบฝักหักข้อ รูปขอบขนาน แบน กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๑.๕-๓.๘ ซม. คอดเป็นปล้อง ๆ เล็กน้อยตามแนวเมล็ด สีน้ำตาล มีขนสีเหลืองอ่อนประปราย ปลายผลเป็นติ่งหนาม บริเวณเมล็ดมีลวดลายแบบร่างแหชัดเจน มีกลีบเลี้ยงและเกสรเพศผู้ติดทนที่โคนผล ก้านผลยาว ๕-๗ มม. เมล็ดรูปคล้ายไต กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. เกลี้ยง

 ไชหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบขึ้นตามซอกหินในป่าละเมาะและป่าเต็งรัง ที่สูงจากกระดับทะเล ๑๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่ลาวและกัมพูชา

 ประโยชน์ เป็นยาพื้นบ้าน ใช้รากต้มน้ำดื่มแก้อาเจียน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไชหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Akschindlium godefroyanum (Kuntze) H. Ohashi
ชื่อสกุล
Akschindlium
คำระบุชนิด
godefroyanum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kuntze, Carl Ernst Otto
- Ohashi, Hiroyoshi
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Kuntze, Carl Ernst Otto (1843-1907)
- Ohashi, Hiroyoshi (1936-)
ชื่ออื่น ๆ
การะ (ส่วย-สุรินทร์); ตองหมอง, ตางหมอง (อุบลราชธานี); ไม้ไชหิน (ชัยภูมิ); เรียง, เรียะ (เขมร-สุรินทร
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวรัศมี สิมมา