ไคร้ใหญ่

Glochidion santisukii Airy Shaw

ไม้ต้น ผิวเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี เมื่อแห้งด้านบนมีสีนํ้าตาลเข้มกว่าด้านล่าง ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกตามชอกใบ ลัเขียวอ่อน ไม่มีกลีบดอก

ไคร้ใหญ่เป็นไม้ต้นสูง ได้ถึง ๑๒ ม. โดยทั่วไปผิวเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๓.๕-๘ ซม. ปลายเรียวแหลมสั้น โคนเบี้ยว สอบแคบขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เมื่อแห้งด้านบนมีสีนํ้าตาลเข้มกว่าด้านล่าง เส้นกลางใบและเส้นใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๒-๓ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม คล้ายรูปเคียว กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ร่วงช้า

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบมักมีก้านช่อดอก มี ๑-๓ ดอก สีเขียวอ่อน สมมาตรตามรัศมี กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็น ๒ วง วงนอกมีขนาดใหญ่กว่า ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้เมื่อตูมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กลับ กลีบวงนอกกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. กลีบวงในมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อับเรณู ยาวประมาณ ๑ มม. แกนอับเรณูยื่นเป็นซี่ฟันแหลม ยาวประมาณ ๐.๒ มม. ดอกเพศเมียเมื่ออ่อนมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๐.๖ มม. กลีบเลี้ยงรูปรี กลีบวงนอกกว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาว ๑.๒-๑.๓ มม. กลีบวงในมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวย กว้าง ยาวประมาณ ๑.๖ มม. ปลายหยักเป็นซี่ฟันเล็ก ยาวประมาณ ๐.๖ มม.

 ผลและเมล็ดยังไม่พบ

 ไคร้ใหญ่เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามทื่รกร้าง ใกล้แหล่งนํ้าในป่าดิบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐๐-๕๐๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไคร้ใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glochidion santisukii Airy Shaw
ชื่อสกุล
Glochidion
คำระบุชนิด
santisukii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Airy Shaw, Herbert Kenneth
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1902-1985)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต