ไคร้แตก

Glochidion oblatum Hook. f.

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งมีขนกำมะหยี่สีน้ำตาลใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่หรือรูปรี ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ สีเขียวอ่อนไม่มีกลีบดอก ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น สีเหลืองและมีขนสีขาว เมล็ดรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว สีแดง

ไคร้แตกเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๔ ม. ตามกิ่งมีขนกำมะหยี่สีนํ้าตาลทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๓.๕-๑๒ ซม. ปลายแหลมทู่ หรือเรียวแหลมและมีติ่งหนาม โคนเบี้ยว สอบแคบ ขอบเรียบแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขน โดยเฉพาะตามเส้นกลางใบ ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขน เส้นกลางใบและเส้นใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๓-๔ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้างไม่เกิน ๑ มม. ยาว ๑-๔ มม. ร่วงช้า

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ มีดอกได้ถึง ๕ ดอก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียมักอยู่ด้วยกัน สมมาตรตามรัศมี กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันเป็น ๒ วง วงนอกมีขนาดใหญ่กว่า ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๕ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน รูปไข่กลับ กลีบวงนอกกว้างประมาณ ๑.๖ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบวงในมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๖ เกสรยาวประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อับเรณูยาวประมาณ ๐.๗ มม. ส่วนแกนอับเรณูยื่นเป็นซี่ฟันแหลม ยาวประมาณ ๐.๔ มม. ดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ มม. มีขน ก้านดอกยาวประมาณ ๐.๖ มม. เมื่อเป็นผลยาวได้ ถึง ๕ มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ กลีบวงนอกกว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาว ๑-๒ มม. กลีบวงในมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อยรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. มีขนยาวหนาแน่น มี ๔-๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายสุดจักเป็นซี่ฟัน เห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ไม่จักเป็นพู สีเหลืองและมีขนสีขาว ผนังผลค่อนข้างหนา แกนกลางผลยาวประมาณ ๖ มม. โคนหนา เมล็ดรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวสีแดง

 ไคร้แตกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามทุ่งหญ้าในป่าดิบ ที่สูงจากระดับ นํ้าทะเล ๕๐๐-๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดียและพม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไคร้แตก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glochidion oblatum Hook. f.
ชื่อสกุล
Glochidion
คำระบุชนิด
oblatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต