ไคร้ย้อย

Elaeocarpus grandiflorus Sm.

ชื่ออื่น ๆ
จิก, ปูมปา, ผีหน่าย, มุ่นนํ้า (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ดอกปีใหม่ (ตะวันออกเฉียงใต้) แต้ว (ตะวันออก); สา
ไม้ต้น แตกกิ่งต่ำ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาว ปลายกลีบจักเป็นริ้ว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกระสวยหรือรูปทรงรี เมล็ดรูปกระสวย

ไคร้ย้อยเป็นไม้ต้น สูง ๕-๓๐ ม. แตกกิ่งตํ่า เรือนยอดค่อนข้างทึบ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกกลับ กว้าง ๑.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๙ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเรียวขอบหยักห่าง แผ่นใบหนา ใบอ่อนมีขนประปรายตามผิวใบด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น ปลายเส้นโค้งแตไม่จรดกัน มักมีตุ่มใบตามง่ามเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว ๐.๕-๔ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๖-๑๐ ซม. ห้อยลง ก้านดอกยาวประมาณ ๓ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน บริเวณโคนกลีบด้านในมืกลุ่มขนยาว ๒ กระจุก ปลายกลีบจักเป็นริ้ว เกสรเพศผู้ ๒๕-๖๐ เกสร ติดรวมอยู่เป็นกระจุกรอบรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม มีขนสั้นหนาแน่นมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมีขน

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกระสวยหรือรูปทรงรี กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. ผิวบาง เรียบ เกลี้ยงเมล็ดรูปกระสวย มี ๑ เมล็ด ก้านผลยาว ๒-๖ ซม.

 ไคร้ย้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นตามริมนํ้าในป่าดิบ ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๕๐-๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปีและเคยมีรายงานว่าพบในป่าชายเลนด้วย ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไคร้ย้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Elaeocarpus grandiflorus Sm.
ชื่อสกุล
Elaeocarpus
คำระบุชนิด
grandiflorus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Smith, James Edward
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1759-1828)
ชื่ออื่น ๆ
จิก, ปูมปา, ผีหน่าย, มุ่นนํ้า (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ดอกปีใหม่ (ตะวันออกเฉียงใต้) แต้ว (ตะวันออก); สา
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย