ไข่เน่า

Vitex glabrata R. Br.

ชื่ออื่น ๆ
ขี้เห็น (อุบลราชธานี, เลย); คมขวาน, ผรั่งโคก (กลาง); ปลู (เขมร-สุรินทร์)
ไม้ต้น ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อย ๕ ใบ รูปรีแกมรูปไข่กลับหรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกที่ง่ามใบ ดอกสีน้ำเงิน รูปปากเปิด ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง เนื้อนิ่ม รูปไข่หรือรูปไข่กลับ สุกสีดำ

ไข่เน่าเป็นไม้ต้น สูง ๕-๒๕ ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้น ๆ อยู่หนาแน่นและร่วงไปเมื่อแก่

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อย (๓-)๕ ใบ ก้านใบยาว ๗-๒๐ ซม. ใบย่อยรูปรีแกมรูปไข่กลับหรือรูปรี ขนาดไม่เท่ากัน ใบกลางใหญ่ที่สุด กว้าง ๔-๑๔ ซม. ยาว ๑๑-๑๓ ซม. ก้านใบย่อยใบกลางยาว ๒-๕ ซม. ใบย่อยอีก ๒ คู่ ที่เหลือขนาดเล็กกว่าและก้านใบสั้นกว่าใบย่อยกลางลดหลั่นกันไปตามลำดับ ใบย่อยแต่ละใบปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบหรือหยักเล็กน้อยตั้งแต่กลางใบถึงปลายใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๒๐ เส้น เกือบขนานกัน ใบอ่อนมีขนสั้น ๆ ใบแก่เกลี้ยง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกที่ง่ามใบ ยาว ๗-๒๒ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑-๓ มม. ปลายมีหยักซี่ฟันเล็ก ๆ ๕ หยัก ด้านนอกมีขนสั้น วงกลีบดอกสีขาวอมเหลือง โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยก ๕ แฉก รูปปากเปิด ด้านบน ๒ แฉก ขนาดไล่เลี่ยกัน ด้านล่าง ๓ แฉก แฉกกลางสีน้ำเงินและมีขนเป็นกระจุก ขนาดใหญ่กว่าอีก ๒ แฉกด้านข้างซึ่งมีสีขาวอมเหลือง ครึ่งบนของด้านในหลอดกลีบดอกมีขนยาวอ่อนนุ่มอยู่หนาแน่น ด้านนอกมีขนสั้น เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่ที่ด้านในบริเวณกลางหลอด ก้านชูอับเรณูครึ่งล่างมีขนยาวอ่อนนุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง เนื้อนิ่ม รูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว ๑.๒-๒.๕ ซม. มีวงกลีบเลี้ยงซึ่งขยายใหญ่ติดอยู่ที่ขั้วผล ผลสุกสีดำ มี ๑ เมล็ด รูปไข่หรือรูปขอบขนาน

 ไข่เน่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐-๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เวียดนามตอนใต้ มาเลเซีย อินเดีย และออสเตรเลีย

 เปลือกและรากใช้เป็นยาฝาดสมาน ผลสุกกินได้ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน (Perry and Metzger 1980, Chadha 1976).




ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่เน่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vitex glabrata R. Br.
ชื่อสกุล
Vitex
คำระบุชนิด
glabrata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Robert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Robert (1773-1858)
ชื่ออื่น ๆ
ขี้เห็น (อุบลราชธานี, เลย); คมขวาน, ผรั่งโคก (กลาง); ปลู (เขมร-สุรินทร์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย