ไข่ปูใหญ่

Rubus alceifolius Poir.

ชื่ออื่น ๆ
มะฮู้ไข่ปู, หนามไข่ปู (เหนือ); ฟ้าแลบ (ใต้)
ไม้พุ่มพาดเลื้อย กิ่งเป็นเหลี่ยม มีหนามงอโค้ง และมีขนสีเหลืองสั้นและหนานุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างหรือรูปกลม หูใบเชื่อมติดกับลำต้นและแยกเป็นเส้นช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายกิ่งดอกใหญ่ สีขาว ผลแบบผลกลุ่ม รูปค่อนข้างกลม สุกสีแดงผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง

ไข่ปูใหญ่เป็นไม้พุ่มพาดเลื้อย กิ่งเป็นเหลี่ยม มีหนามงอโค้ง และมีขนสีเหลืองสั้นหนานุ่ม บางครั้งอาจพบขนต่อมแซม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างหรือรูปกลม กว้าง ๓-๑๕ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. แผ่นใบเว้า ๓-๗ แฉก ปลายแฉกมน โคนใบเว้าลึกรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยอย่างไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบหนา ด้านบนเป็นรอยย่น ด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่ม เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๕ เส้น มีขนสั้นนุ่ม ก้านใบยาว ๒-๕ ซม. หูใบเชื่อมติดกับลำต้นและแยกเป็นเส้น

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๑๘ ซม. ดอกใหญ่ สีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. ก้านดอกย่อยยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนแข็งสีแดง ใบประดับแยกเป็นเส้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท มีขนสีเหลืองอมน้ำตาล ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก มีขนสั้นหนานุ่ม กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ หยักเว้าลึก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ปลายอับเรณูมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้นยาวกว่าเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียแบน

 ผลแบบผลกลุ่ม รูปค่อนข้างกลม อวบน้ำ สุกสีแดงผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง ผนังชั้นในของผลเป็นรอยย่น

 ไข่ปูใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นได้ทั่วไปตามที่โล่ง ในต่างประเทศพบที่จีน ญี่ปุ่น เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

 ประโยชน์ ผลกินได้ รสเปรี้ยว ใบใช้ชงดื่มแบบชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่ปูใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rubus alceifolius Poir.
ชื่อสกุล
Rubus
คำระบุชนิด
alceifolius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Poiret, Jean Louis Marie
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1755-1834)
ชื่ออื่น ๆ
มะฮู้ไข่ปู, หนามไข่ปู (เหนือ); ฟ้าแลบ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา