ไข่ปูหัวใจ

Rubus hederifolius (Cardot) Thuan

ไม้พุ่ม มีขนแข็งยาวสีแดงหนาแน่น หนามเล็กโค้งลง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้าง หยักเว้าแบบฝ่ามือ ๓-๕ หยัก หูใบเชื่อมติดกับลำต้นเป็นแผ่นกว้างและเป็นแฉกแบบนิ้วมือ มีขนแข็ง ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลกลุ่มรูปค่อนข้างกลม ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง เมล็ด ๑-๒ เมล็ด

ไข่ปูหัวใจเป็นไม้พุ่ม กิ่งยาวเรียว มีขนแข็งยาวสีแดงหนาแน่น หนามเล็ก โค้งลง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้าง กว้างและยาวประมาณ ๙ ซม. หยักเว้าแบบฝ่ามือ ๓-๕ หยัก แต่ละหยักตื้นและกว้าง ปลายแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยถี่และมีขนครุย แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีเหลืองสั้นหนานุ่ม เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๕ เส้น มีหนามและขนแข็ง เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๔-๘ ซม. หูใบเชื่อมติดกับลำต้นเป็นแผ่นกว้างและเป็นแฉกแบบนิ้วมือ มีขนแข็ง

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง รูปทรงกระบอก ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ช่อยาวประมาณ ๔ ซม. ดอกสีขาวเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม ปลายจักฟันเลื่อย กลีบดอก ๕ กลีบ รูปใบหอก หยักมน มีก้านกลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก แยกจากกัน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้ายยาวเป็น ๒ เท่าของความยาวเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียรูปกลม

 ผลแบบผลกลุ่ม รูปค่อนข้างกลม ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง ผนังชั้นในผลย่อยเป็นรอยย่น เมล็ด ๑-๒ เมล็ด

 ไข่ปูหัวใจมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบทั่วไปตามริมน้ำ ในป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่ปูหัวใจ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rubus hederifolius (Cardot) Thuan
ชื่อสกุล
Rubus
คำระบุชนิด
hederifolius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Cardot, Jules
- Thuan, Nguyen Van
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Cardot, Jules (1860-1934)
- Thuan, Nguyen Van (-1987)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา