ไข่ปูญวน

Rubus cochinchinensis Tratt.

ไม้พุ่มหรือไม้เถาเนื้อแข็ง มีไหลยาว ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน มีใบย่อย ๕ ใบ ใบย่อยรูปใบหอกหูใบเชื่อมติดกับลำต้น กว้าง มีขน ร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาวผลแบบผลกลุ่ม รูปทรงรี ค่อนข้างกลม สุกสีดำ ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง เมล็ด ๑-๒ เมล็ด

ไข่ปูญวนเป็นไม้พุ่มหรือไม้เถาเนื้อแข็ง มีไหลยาว

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน มีใบย่อย ๕ ใบบางครั้งพบใบที่ยังอ่อนอยู่มีใบย่อย ๓ ใบ ใบย่อยรูปใบหอกกว้าง ๑-๕ ซม. ยาว ๓-๑๕ ซม. ปลายเป็นติ่งหนาม โคนมนหรือแหลม ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่ม สีเทา เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ก้านใบยาวประมาณ ๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มและมีหนาม หูใบเชื่อมติดกับลำต้น กว้าง มีขน ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบและปลายกิ่งยาว ๓-๑๐ ซม. ดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม. ก้านดอกยาว ๓-๘ มม. มีใบประดับ ๓ ใบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ขนาดไม่เท่ากัน มี ๓ แฉก จักลึก มีขน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปกลม เกสรเพศผู้จำนวนมาก สั้นกว่ากลีบดอก ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง อับเรณูมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก แยกจากกัน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู

 ผลแบบผลกลุ่ม รูปทรงรี ค่อนข้างกลม สุกสีดำผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง เมล็ด ๑-๒ เมล็ด

 ไข่ปูญวนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบในที่โล่งและตามป่ารุ่น ป่าเหล่า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้และภูมิภาคอินโดจีน

 ประโยชน์ ผลกินได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่ปูญวน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rubus cochinchinensis Tratt.
ชื่อสกุล
Rubus
คำระบุชนิด
cochinchinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Trattinnick, Leopold
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1764-1849)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา