ไข่นกเขา

Loropetalum chinense (R. Br.) Oliv. var. chinense

ไม้ต้น แตกกิ่งต่ำ กิ่งอ่อนมีขนรูปดาว กิ่งแก่เกลี้ยงใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีถึงรูปไข่ ดอกแยกเพศร่วมช่อและดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม แข็ง เมล็ดเล็ก ทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ไม่มีปีก

ไข่นกเขาเป็นไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูง ๕-๑๒ ม. แตกกิ่งต่ำ เปลือกเรียบ สีเทา กิ่งอ่อนมีขนรูปดาว กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีถึงรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๓-๖ ซม. ปลายแหลม โคนมน และอาจเบี้ยวเล็กน้อยขอบเรียบและมักม้วนลงเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนทั้ง ๒ ด้านและตามขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น ปลายโค้งและเชื่อมกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๓-๕ มม. มีขน หูใบ รูปใบหอกแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. มีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน

 ดอกแยกเพศร่วมช่อและดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔ กลีบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนหนานุ่มทางด้านนอก กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เป็นแถบแคบ ๆ ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดเรียงสลับกับกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลมและมีขน มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกเรียวเล็ก ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม แข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. อาจมีขนบ้างประปราย เมล็ดเล็กทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ไม่มีปีก

 ไข่นกเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบและป่าสนที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียและภาคใต้ของจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่นกเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Loropetalum chinense (R. Br.) Oliv. var. chinense
ชื่อสกุล
Loropetalum
คำระบุชนิด
chinense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Robert
- Oliver, Daniel
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. chinense
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Robert (1773-1858)
- Oliver, Daniel (1830-1916)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย