ไข่นกคุ่ม

Sycopsis dunnii Hemsl.

ไม้ต้น แตกกิ่งต่ำ เปลือกเรียบ สีเทา กิ่งอ่อนมีขนรูปดาว ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ดอกแยกเพศร่วมต้นและดอกสมบูรณ์เพศช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งดอกสีเขียวอ่อน มีแต่กลีบเลี้ยง ผลแบบผลแห้งแตกรูปทรงรีหรือทรงกลม เมล็ดทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนานมี ๑-๒ เมล็ด

ไข่นกคุ่มเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. แตกกิ่งต่ำเปลือกเรียบ สีเทา กิ่งอ่อนมีขนรูปดาว ขนจะหลุดร่วงไปเมื่อแก่

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก กว้าง ๑.๒-๓ ซม. ยาว ๕-๑๑ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนแหลมหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ หรืออาจหยักห่าง ๆ บริเวณส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบ ขอบใบมักม้วนลงเล็กน้อย แผ่นใบหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมักมีขนรูปดาวแกมขนสั้นนุ่มตามแนวเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ ก้านใบยาวประมาณ ๕ มม. มีขนประปราย หูใบรูปใบหอกกว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒-๕ มม. ร่วงง่าย เหลือไว้แต่รอยแผลเป็นเล็ก ๆ ตามกิ่ง

 ดอกแยกเพศร่วมต้นและดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๒-๓.๕ ซม. แต่ละช่อมีดอก ๓-๖ ดอก ดอกสีเขียวอ่อนแต่ละดอกมีใบประดับเป็นกาบรูปใบหอกรองรับ กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน มี ๖ กลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๒-๓ มม. เกสรเพศผู้ในดอกเพศผู้หรือดอกสมบูรณ์เพศมี ๔ เกสร พบน้อยที่มี ๑๐ เกสร อับเรณูแตกตามยาว เกสรเพศเมียในดอกเพศเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศมี ๑ เกสร รังไข่อยู่กึ่งใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๒ ก้าน ยอดเกสรเพศเมียเรียวแหลม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีหรือทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ครึ่งล่างมีฐานดอกหุ้ม เมล็ดทรงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มี ๑-๒ เมล็ด

 ไข่นกคุ่มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลไม่เกิน ๖๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีนตอนใต้ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่นกคุ่ม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Sycopsis dunnii Hemsl.
ชื่อสกุล
Sycopsis
คำระบุชนิด
dunnii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hemsley, William Botting
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1843-1924)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย