ไข่กุ้งหนามน้อย

Rubus elongatus Sm.

ไม้พุ่มพาดเลื้อยคลุม มีหนามเล็กงอเป็นตะขอใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ หูใบเชื่อมติดกับลำต้นรูปใบหอก ขอบจักลึก ร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงแกนช่อคดไปมา ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ ดอกสีขาวผลแบบผลกลุ่ม รูปค่อนข้างกลม สุกสีแดงคล้ำผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด

ไข่กุ้งหนามน้อยเป็นไม้พุ่มพาดเลื้อยคลุม ยาวได้ถึง ๑๒ ม. กิ่งรูปทรงกระบอก เกลี้ยง หรือมีขนสั้นหนานุ่มมีหนามเล็กงอเป็นตะขอ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ กว้างประมาณ ๗ ซม. ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปหัวใจหรือเป็นหยัก ขอบหยักมน แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่มสีขาว เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๙ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๓-๕ ซม. มีขนสั้นนุ่ม มีขน หูใบเชื่อมติดกับลำต้น รูปใบหอก ขอบจักลึก ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบแกนช่อคดไปมา ยาวประมาณ ๒๐ ซม. ดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. ก้านดอกตั้งตรง มีขนสั้นหนานุ่มใบประดับรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายจักฟันเลื่อยมีขนสั้นนุ่ม ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ปลายแฉกเป็นติ่งหนามสั้นขอบจักฟันเลื่อย กลีบดอก ๕ กลีบ รูปกลม ปลายเว้าตื้นเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก แยกจากกัน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น

 ผลแบบผลกลุ่ม รูปค่อนข้างกลม สุกสีแดงคล้ำผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง ผนังชั้นในของผลย่อยเป็นรอยย่น มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด

 ไข่กุ้งหนามน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบในที่โล่งแจ้ง ที่สูงจากระดับทะเล ๙๐๐-๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ลาว เวียดนาม และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่กุ้งหนามน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rubus elongatus Sm.
ชื่อสกุล
Rubus
คำระบุชนิด
elongatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Smith, James Edward
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1759-1828)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา