ไข่กุ้งพู

Rubus ellipticus Sm. forma obcordatus Franch.

ไม้พุ่มหรือไม้รอเลื้อย กิ่งเป็นเหลี่ยมและมีร่องมีขนสั้นนุ่ม ขนยาวแข็งสีแดง และมีหนามงอเป็นตะขอแข็ง ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน มีใบย่อย ๓ ใบ รูปหัวใจกลับ ปลายเว้าชัดเจน หูใบเชื่อมติดกับก้านใบรูปเส้นด้าย มีขน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลกลุ่ม รูปค่อนข้างกลม สุกสีเหลือง ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งมีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด

ไข่กุ้งพูเป็นไม้พุ่มหรือไม้รอเลื้อย กิ่งเป็นเหลี่ยมและมีร่อง มีขนสั้นนุ่ม ขนยาวแข็งสีแดง และมีหนามงอเป็นตะขอแข็ง

 ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน มีใบย่อย ๓ ใบ รูปหัวใจกลับ กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๓-๖ ซม. ปลายเว้าชัดเจนโคนมน ขอบหยักซี่ฟัน ใบย่อยที่ปลายมีขนาดใหญ่กว่าและมีก้านใบย่อย ใบย่อยคู่ข้างไม่มีก้านใบย่อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่มสีเทา เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๑๐ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. ด้านบนเป็นร่อง หูใบเชื่อมติดกับก้านใบ รูปเส้นด้าย มีขน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ยาวประมาณ ๘ ซม. ดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๒ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบประดับมีขนแข็งบางครั้งจักลึก ใบประดับย่อยมีขนาดเล็ก รูปใบหอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกลม มีขนสั้นหนานุ่มและขนแข็งทั้ง ๒ ด้าน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ปลายมน หรือเป็นติ่งหนาม กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ยาวเท่ากับความยาวของแฉกกลีบเลี้ยง ขอบจักฟันเลื่อย มีก้านกลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เรียงชั้นเดียว ก้านชูอับเรณูแบน อับเรณูรูปกลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก


แยกจากกัน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ติดทน

 ผลแบบผลกลุ่ม รูปค่อนข้างกลม สุกสีเหลือง ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง ผนังผลย่อยชั้นในเป็นรอยย่นมีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด

 ไข่กุ้งพูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามที่โล่ง ป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน เวียดนาม และลาว

 ประโยชน์ ผลกินได้ ใบใช้ชงดื่มแบบชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่กุ้งพู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rubus ellipticus Sm. forma obcordatus Franch.
ชื่อสกุล
Rubus
คำระบุชนิด
ellipticus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Smith, James Edward
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
forma obcordatus
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Franch.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1759-1828)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา