ใต้ใบ

Sauropus amoebiflorus Airy Shaw

ชื่ออื่น ๆ
กวางหีเป๊ะ (ลำปาง); ผักหวานบ้าน (ลำพูน)
ไม้ล้มลุกถึงไม้พุ่มขนาดเล็ก เหง้าแข็ง กิ่งเป็นสัน ๔ สัน ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรี ดอกแยกเพศร่วมต้นออกเดี่ยวหรือออกเป็นกลุ่ม ๒-๓ ดอก ตามซอกใบ ดอกห้อยลง สีออกเขียวถึงสีแดงเลือดนกปนสีน้ำตาล ขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ผลแบบผลแห้งแยก สีขาว ทรงรูปไข่ เมล็ดรูปทรงสามเหลี่ยมเมื่อตัดขวาง

ใต้ใบเป็นไม้ล้มลุกถึงไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๕๐ ซม.เหง้าแข็ง กิ่งเป็นสัน ๔ สัน

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรี พบน้อยที่เป็นรูปไข่ กว้าง ๐.๗-๑.๖ ซม. ยาว ๒-๕ ซม. ปลายกลมมนถึงแหลม มีติ่งหนามสั้น โคนรูปลิ่มถึงรูปลิ่มแคบ ขอบโค้งพับลงและมีตุ่มเล็ก แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นกลางใบด้านบนมีตุ่มเล็ก เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น บางเส้นเห็นชัด เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัด ก้านใบยาว ๑-๑.๒ มม. โคนก้านอวบและมีตุ่มเล็ก ๆ หูใบรูปสามเหลี่ยมถึงรูปเคียวกว้าง ๐.๓-๓ มม. ยาว ๐.๘-๕.๕ มม. โคนเบี้ยว ร่วงช้า

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเดี่ยวหรือออกเป็นกลุ่ม ๒-๓ ดอก ตามซอกใบ ดอกห้อยลง สีออกเขียวถึงสีแดงเลือดนกปนสีน้ำตาล ขนาดเล็ก มักเป็นรูปสามเหลี่ยมมีใบประดับ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๖ แฉก ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๒.๗-๔ มม. กว้าง ๓.๕-๕.๒ มม. แฉกกลีบเลี้ยงแผ่แบน มีเกล็ด แฉกขนาดใหญ่มี ๓ แฉก กว้างได้ถึง ๒.๓ มม. ยาวได้ถึง ๒.๑ มม. แต่ละแฉกปลายแยกเป็นแฉกตื้นและแหลม ๒ แฉก แฉกกลีบเลี้ยงอีก ๓ แฉก มีขนาดเล็กมักไม่เจริญ หรือเจริญและกว้างได้ถึง ๒.๕ มม. ยาวได้ถึง ๐.๘ มม. เกสรเพศผู้ ๓ เกสร มีก้านชูเกสรเพศผู้ยาว ๐.๑-๐.๓ มม. อับเรณูกว้าง ๐.๓-๐.๕ มม. ยาว ๐.๓-๐.๔ มม. ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว ๒-๓.๒ มม. เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๖.๓-๙ มม. แฉกกลีบเลี้ยงรูปไข่ แฉกเล็ก ๓ แฉก กว้างประมาณ ๓.๘ มม. ยาวประมาณ ๓.๒ มม. แฉกใหญ่ ๓ แฉก กว้าง ๒.๓-๕ มม. ยาว ๒.๓-๔.๕ มม. กลีบเลี้ยงติดทนจนเป็นผล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปพีระมิดกลับ กว้าง ๑.๗-๒ มม. ยาว ๐.๗-๑.๑ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียยาวได้ถึง ๑ มม. แยกเป็น ๓ แฉก แบนราบ

 ผลแบบผลแห้งแยก สีขาว ทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. เมล็ดรูปทรงสามเหลี่ยมเมื่อตัดขวาง กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๔.๕ มม. หนาประมาณ ๓.๕ มม.

 ใต้ใบเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบ ป่าไผ่ ป่ารุ่น และตามไหล่หินเปิดโล่ง ที่สูงใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ใต้ใบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Sauropus amoebiflorus Airy Shaw
ชื่อสกุล
Sauropus
คำระบุชนิด
amoebiflorus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Airy Shaw, Herbert Kenneth
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1902-1985)
ชื่ออื่น ๆ
กวางหีเป๊ะ (ลำปาง); ผักหวานบ้าน (ลำพูน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต