โตงวะ

Ipomoea obscura (L.) Ker Gawl.

ชื่ออื่น ๆ
สะอึก (ชลบุรี, นครศรีธรรมราช)
ไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้นเรียวเล็กเลื้อยพัน มีขนสั้นนุ่มหรือขนแบบขนแกะ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปค่อนข้างกลมแกมรูปหัวใจหรือรูปไข่ พบบ้างที่เป็นรูปไต ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ มี ๑-๓ ดอ ดอกรูปกรวย สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน โคนหลอดดอกด้านในมีสีแดงเข้มถึงสีม่วงแดงเข้ม ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่แกมรูปกรวยหรือรูปทรงค่อนข้างกลม ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน กลีบเลี้ยงติดทนโค้งพับลงเมล็ดสีน้ำตาลแกมสีดำ มีขนสีน้ำตาลแกมสีเทาหนาเน่น มี ๔ เมล็ด

โตงวะเป็นไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้นเรียวเล็กเลื้อยพัน ยาว ๑-๒ ม. มีขนสั้นนุ่มหรือขนแบบขนแกะ ตรงซอกใบเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปค่อนข้างกลมแกมรูปหัวใจหรือรูปไข่ พบบ้างที่เป็นรูปไต กว้าง ๑.๖-๙ ซม. ยาว ๐.๒-๑๐ ซม. ปลายสอบเรียว แหลม โคนรูปหัวใจขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนเป็นเส้นยาวนุ่มกระจายห่าง ๆ เส้นแขนงใบข้างละ๖-๑๕ เส้น ก้านใบยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๙ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ มี ๑-๓ ดอก ก้านช่อดอกเรียวยาวรูปเส้นด้าย ยาว ๑.๔-๔ ซม. อาจยาวได้ถึง ๑๔ ซม. ใบประดับรูปลิ่มแคบยาว ๑.๕-๒ มม.


ก้านดอกยาว ๐.๘-๒ ซม. ค่อนข้างเกลี้ยง เมื่อเป็นผลก้านดอกหนาขึ้นและโค้ง ดอกรูปกรวย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่แกมรูปรี ยาวเกือบเท่ากัน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายกลีบเป็นติ่งแหลมสั้น ค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มประปราย กลีบเลี้ยงเรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๒ กลีบ รูปไข่ กลางกลีบหนา ขอบกลีบสีขาว กลีบวงใน ๓ กลีบ รูปไข่กว้าง กลีบเลี้ยงติดทนและโค้งพับลงในผล กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๒-๒.๕ ซม. โคนเป็นหลอด ปลายหลอดกางออกเป็นวง ขอบเว้าเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน แถบกลางกลีบสีเข้มกว่าส่วนอื่น โคนหลอดดอกด้านในสีแดงเข้มถึงสีม่วงแดงเข้ม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวไม่เท่ากัน เชื่อมติดกับโคนหลอดกลีบดอก

ยาวไม่พ้นกลีบดอก ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย ยาว ๔-๖ มม. โคนก้านกว้างกว่าปลายและมีขน อับเรณูยาวประมาณ ๑.๕ มม. แตกตามยาว ไม่บิด จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ยาวประมาณ ๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม ๒ ตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่แกมรูปกรวยหรือรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน กลีบเลี้ยงติดทนโค้งพับลง เมล็ดสีน้ำตาลแกมสีดำ ยาว ๔-๕ มม. มีขนสีน้ำตาลแกมสีเทาหนาแน่น มี ๔ เมล็ด

 โตงวะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามที่โล่งแจ้งทั่วไป ตามทุ่งหญ้า และบริเวณป่าที่ถูกแผ้วถาง เป็นวัชพืชที่พบได้ทั่วไป ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่ตะวันออกของแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ทางเหนือของออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โตงวะ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ipomoea obscura (L.) Ker Gawl.
ชื่อสกุล
Ipomoea
คำระบุชนิด
obscura
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Kerr Gawler, John Bellenden
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Kerr Gawler, John Bellenden (1764-1842)
ชื่ออื่น ๆ
สะอึก (ชลบุรี, นครศรีธรรมราช)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา