โชนใหญ่

Pteridium aquilinum (L.) Kuhn

ชื่ออื่น ๆ
กูดเกี๊ยะ (เชียงใหม่); โชน (ชุมพร); ลือซัน, ลือแซบือซา (มลายู-นราธิวาส); หญ้ารังไก่ (นราธิวาส)
เฟิร์นขนาดใหญ่ มีเหง้าทอดไปตามพื้นดิน ใบประกอบแบบขนนก ๓-๔ ชั้น รูปสามเหลี่ยม ใบย่อยคู่ล่างสุดมีขนาดใหญ่สุด แผ่นใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง กลุ่มอับสปอร์รูปแถบ อยู่ใกล้ขอบใบย่อยทางด้านล่าง เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บาง

โชนใหญ่เป็นเฟิร์นขนาดใหญ่ มีเหง้าทอดไปตามพื้นดิน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. มีเกล็ดสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น เกล็ดรูปร่างเรียวยาว ยาวได้ถึง ๑ ซม.

 ใบประกอบแบบขนนก ๓-๔ ชั้น รูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ กว้าง ๕๐-๘๐ ซม. ยาวได้ถึง ๑ ม. ก้านใบหนา แข็ง และตั้งตรง ยาวได้ถึง ๑ ม. สีเขียวหรือสีน้ำตาลแดง โคนก้านใบมีเกล็ดปกคลุม ตอนบนมีขนหนาแน่น แกนกลางใบแผ่เป็นปีกแคบ ๆ ใบประกอบชั้นที่ ๑ แยกออกเป็นคู่ ใบย่อยคู่ล่างสุดมีขนาดใหญ่สุด ใบย่อยปลายมน โคนตัด ขอบเรียบและม้วนลง แผ่นใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนังสีเขียวอมเทา ด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขนสั้นสีน้ำตาลทองหนาแน่น เส้นกลางใบและเส้นกลางใบย่อยเป็นร่องทางด้านบน และนูนทางด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นใบแตกแขนงเป็นคู่ ๑-๒ ครั้งปลายเปิด มองเห็นเป็นร่องทางด้านล่างของแผ่นใบ

 กลุ่มอับสปอร์รูปแถบ อยู่ใกล้ขอบใบย่อยทางด้านล่าง เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บาง อับสปอร์จำนวนมาก สีน้ำตาล มีเส้นแทรก (paraphysis) เป็นขนสีน้ำตาลทองปะปน

 โชนใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามที่ลาดไหล่เขา ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐๐-๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบกระจายทั่วโลก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โชนใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pteridium aquilinum (L.) Kuhn
ชื่อสกุล
Pteridium
คำระบุชนิด
aquilinum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Kuhn, Friedrich Adalbert Maximilian (‘Max’)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Kuhn, Friedrich Adalbert Maximilian (‘Max’) (1842-1894)
ชื่ออื่น ๆ
กูดเกี๊ยะ (เชียงใหม่); โชน (ชุมพร); ลือซัน, ลือแซบือซา (มลายู-นราธิวาส); หญ้ารังไก่ (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สหณัฐ เพชรศรี และ ศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด