โคลงเคลงขนต่อม

Clidemia hirta (L.) D. Don

ไม้พุ่ม ทุกส่วนโดยเฉพาะส่วนที่ยังอ่อนมีขนต่อมหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปไข่กว้างช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ค่อนข้างกลม สุกสีน้ำเงินเข้มถึงดำ เมล็ดทรงรูปไข่

โคลงเดลงขนต่อมเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๑.๕ ม. กิ่งอ่อนและส่วนอื่นที่ยังอ่อนมีขนต่อมหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๕-๑๗ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลมโคนมนกลมหรือเว้าเล็กน้อย ขอบจักฟันเลื่อยละเอียด แผ่นใบทั้ง ๒ ด้านมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๒ เส้น ออกเกือบชิดกันใกล้ใคนใบ ก้านใบยาวได้ถึง ๔ ซม. มีขนยาว


 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ มีดอก ๓-๕(-๑๕) ดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๔ มม. ฐานดอกรูปถ้วยคล้ายระฆัง ยาวประมาณ ๕ มม. มีขนแข็งและขนต่อม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันกับขอบฐานดอกปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม กลีบดอกบาง สีขาว มี ๕ กลีบ รูปไข่ ยาว ๐.๘-๑.๑ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร สีขาว อับเรณูยาว ๔-๕ มม. แกนอับเรณูมีเดือยเล็ก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. มีขนต่อมและขนแข็ง สุกสีนํ้าเงินเข้มถึงดำ เมล็ดทรงรูปไข่

 โคลงเดลงขนต่อมมีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามที่โล่ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เม็กซิโกถึงโบลิเวีย และพบมากในเขตร้อนทั่วไป โดยเฉพาะในฮาวาย มีรายงานว่าเป็นวัชพืชร้ายแรง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โคลงเคลงขนต่อม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Clidemia hirta (L.) D. Don
ชื่อสกุล
Clidemia
คำระบุชนิด
hirta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Don, David
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Don, David (1799-1841)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางชุมศรี ชัยอนันต์