โคคลานใบขน

Croton caudatus Geiseler

ชื่ออื่น ๆ
กระดอหดใบขน(ทั่วไป); ภูเราะปริยะ (มลายู-นราธิวาส); โคคลาน (นครราชสีมา); ปริก (ตรัง)
ไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เลื้อยเนื้อแข็ง กิ่งและใบมีขนรูปดาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีเขียวอ่อน ดอกเพศเมียไม่มีกลีบดอก เกสรเพศเมียมี ๓ แฉก ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลมหรือทรงรี สีเขียวอ่อน มีขนรูปดาวสีน้ำตาล เมล็ดแบน รูปทรงรี มี ๓ เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม

โคคลานใบขนเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เลื้อย เนื้อแข็ง สูงได้ถึง ๕ ม. แตกกิ่งแบบเรียงสลับ อาจพบแตกกิ่งก้านเป็นวงรอบที่ปลาย กิ่งอ่อนมีขนสากรูปดาวขนาดเล็กทั่วไป เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ขนรูปดาวมีรัศมี ๖-๑๒ แฉก พุ่งตรง สีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๙ ซม. ปลายแหลมหรือค่อนข้างแหลม โคนรูปหัวใจหรือมน ขอบจักฟันเลื่อยหรือค่อนข้างเรียบ แผ่นใบบาง มีขนรูปดาวทั้ง ๒ ด้าน โดยเฉพาะบนเส้นใบมีต่อม ๑ คู่ที่ใคนใบ ต่อมมีก้านสั้นมาก และมีต่อมที่ขนาดเล็กกว่าอยู่ตามขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๒.๗ ซม. มีขนสาก หูใบรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ ๒ มม.

 ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ยาว ๖-๑๓ ซม. ออกตามปลายยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายยอด สีเขียวอ่อน เป็นช่อสมบูรณ์เพศ ตอนโคนขึ้นมา ๕-๑๐ ซม. เป็นดอกเพศเมีย มี ๓-๒๕ ดอก แต่ละดอกมีใบประดับ ๑ใบ ตอนปลายยาว ๒-๑๒ ซม. เป็นดอกเพศผู้ มี ๑-๓ ดอกต่อใบประดับ ๑ ใบ มีขนรูป ดาวหนาแน่นที่แกนช่อ ใบประดับคล้ายเส้นด้าย มีขนรูปดาวร่วงง่าย ดอกเพศผู้มีขนหนาแน่นก้านดอกยาว ๓-๘ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนเกสรเพศผู้มีประมาณ ๑๘ อัน แยกกัน อับเรณูมี ๒ ช่อง ติดกับก้านชูอับเรณูที่ฐาน จานฐานดอกเป็นพู ดอกเพศเมียมีขน ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนด้านนอก ไม่มีกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนรูปดาวสีนํ้าตาลอมเหลืองหนาแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียยาว ๕-๗ มม. แยกเป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลมหรือทรงรีสีเขียวอ่อน กว้างและยาว ๑.๒-๑.๘ ซม. ไม่เป็นร่องตามยาว ผนังผลหนาและแข็ง มีขนรูปดาวสีนํ้าตาลทั่วไป เมล็ดแบน รูปทรงรี กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. มี ๓ เมล็ด สีนํ้าตาลเข้มมีขนกระจาย ไม่มีจุกขั้ว

 โคคลานใบขนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ ป่าพรุ ป่ารุ่น ริมธารนํ้า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ศรีลังกา ภูฏาน บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซียตะวันตกและภาคกลาง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โคคลานใบขน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Croton caudatus Geiseler
ชื่อสกุล
Croton
คำระบุชนิด
caudatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Geiseler, Eduard Ferdinand
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1781-1827)
ชื่ออื่น ๆ
กระดอหดใบขน(ทั่วไป); ภูเราะปริยะ (มลายู-นราธิวาส); โคคลาน (นครราชสีมา); ปริก (ตรัง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต