โกโก้

Theobroma cacao L.

ไม้ต้น ใบเรียงสลับหรือเวียนรอบ รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ดอกออกเป็นกลุ่มตามลำต้นหรือกิ่งใหญ่สีขาวหรือขาวอมชมพู ผลแบบกึ่งผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดรูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปรี

โกโก้เป็นไม้ต้น สูง ๓-๘ ม. อาจสูงได้ถึง ๑๓ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับหรือเวียนรอบ รูปรี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๒๐ ซม. ยาว ๑๐-๔๘ ซม. ปลายแหลม โคนมนหรือสอบ ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อยเส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ปลายโค้งจรดกัน ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. โคนใบป้องทั้ง ๒ ข้าง หูใบเล็ก รูปใบหอก กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ร่วงง่าย

 ดอกเล็ก ออกเป็นกลุ่มตามลำต้นหรือกิ่งใหญ่ ๆ ตรงที่ใบร่วงไป เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๒.๓ ซม. สีเขียวหรือแดง มีขนประปราย ใบประดับเล็ก มีขน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอก กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๖-๘ มม. สีขาวหรือขาวประชมพู กลีบดอก ๕ กลีบ เรียงสลับกับกลีบเลี้ยง สีขาวอมเหลืองหรือขาวอมชมพู กลีบดอกตอนล่างเป็นกระพุ้งสอบลงมาหาโคนกลีบ มีเส้นสีม่วงตามยาว ๒ เส้น กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๓-๔ มม. กลางกลีบดอกคอดเป็นเส้น โค้งออก ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายกลีบสีเหลือง แผ่ออกเป็นรูปซ้อน กว้าง ๒-๓ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน โคนก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ แยกเป็น ๒ ชนิด ชนิดแรก ๕ อัน อยู่ตรงกับกลีบเลี้ยง ตั้งตรง โคนกว้าง ปลายเรียว ไม่มีอับเรณู ยาว ๔-๖ มม. สีม่วงเข้ม มีขนอ่อนนุ่มสีขาว อีก ๕ อัน อยู่ตรงกับกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. โค้งงอลงมาจนกระทั่งอับเรณูเข้าไปอยู่ในอุ้งกลีบดอกตอนล่าง โพรงอับเรณู ๔ ช่อง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๕ แฉก

 ผลรูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปรี กว้าง ๖-๑๐ ซม. ยาว ๑๒-๒๒ ซม. ผิวแข็งขรุขระ เป็นร่อง ๑๐ ร่อง สีเหลือง ม่วง หรือแดง มี ๒๐-๖๐ เมล็ด เรียงเป็นแถว ๕ แถว ยาวตามแกนกลางของผล เมล็ดสีน้ำตาล รูปรี กว้าง ๑.๓-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดบาง ๆ รสหวาน

 โกโก้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ขึ้นมาถึงประเทศเม็กซิโกและหมู่เกาะเวสต์อินดิส นำไปปลูกในประเทศเขตร้อนทั่วไป ในประเทศไทยปลูกมากทางภาคใต้ ขึ้นใต้ร่มเงาไม้อากาศร้อน ความชื้นสูง และมีฝนตกชุก ในฟิลิปปินส์ใช้น้ำต้มจากรากเป็นยาขับระดู ทำให้แท้ง (Perry and Metzger, 1980)

 สารเคมีสําคัญที่พบในเมล็ดโกโก้ส่วนใหญ่เป็นไขมันร้อยละ ๓๕-๕๐ เรียกว่า theobroma oil หรือ cocoa butter นอกนั้นเป็นแป้งประมาณร้อยละ ๑๕ โปรตีนประมาณร้อยละ ๑๕ แอลคาลอยด์ theobromine ร้อยละ ๑-๔ และกาเฟอีน ร้อยละ ๐.๐๗-๐.๓๖ แทนนินและสารระเหยง่ายอีกมากกว่า ๗๐ ชนิด ใน theobroma oil หรือ cocoa butter ส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลีเซอไรด์ของ oleic acid ประมาณร้อยละ ๓๔ ของ stearic acid ประมาณร้อยละ ๓๔ และของ palmitic acid ประมาณร้อยละ ๒๖ ส่วนน้อยเป็นกลีเซอไรด์ของ linoleic acid และของ arachidic acid ในเมล็ดสดพบ polyphenol ประมาณร้อยละ ๕-๑๐ เช่น epicatechol, leucoanthocyanins และ anthocyanins สารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะสลายตัวในระหว่างการคั่วเมล็ด เกิดเป็นสารที่มีสีเรียกว่า cocoa red (Trease and Evans, 1983; Tyler, Brady and Robbers, 1988)

 โกโก้ใช้เป็นอาหารและเป็นสารแต่งกลิ่นและรสของอาหาร ยา และเครื่องดื่มหลายชนิด ส่วน cocoa butter ใช้ทำสบู่ เครื่องสําอาง และใช้เป็นตัวยาพื้นของยาเหน็บ ขี้ผึ้ง (Leung, 1980) แอลคาลอยด์ theobromine มีฤทธิ์ขับปัสสาวะกระตุ้นหัวใจ ขยายหลอดเลือด และคลายกล้ามเนื้อเรียบ ดังนั้น จึงใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้ (Goodman and Gilman, 1975).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โกโก้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Theobroma cacao L.
ชื่อสกุล
Theobroma
คำระบุชนิด
cacao
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย