โกฐหัวบัว

Ligusticum sinense Oliv. cv. Chuanxiong

ชื่ออื่น ๆ
ชวนเกียง, ชวนซีอง (จีน)
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีกลิ่นหอมฉุน เหง้าค่อนข้างกลมผิวเป็นปุ่มปม มีกลิ่นหอมฉุน ใบประกอบแบบขนนก ๓ ชั้น เรียงเวียน ก้านใบยาว โคนก้านแผ่เป็นกาบ พืชนี้เป็นพันธุ์ปลูกไม่พบดอก

โกฐหัวบัวเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง สูงได้ ถึง ๑ ม. เหง้าค่อนข้างกลม ผิวเป็นปุ่มปม มีข้อป่องและปล้องสั้น

 ใบประกอบแบบขนนก ๓ ชั้น เรียงเวียน แฉกสุดท้ายรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน หยักลึกสุดแบบขนนก ใบที่อยู่ใกล้โคนต้นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้างได้ถึง ๑๕ ซม. ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ก้านใบยาวได้ถึง ๒๐ ซม. โคนก้านแผ่เป็นกาบ พืชนี้เป็นพันธุ์ปลูก ไม่พบดอก

 โกฐหัวบัวเป็นพืชถิ่นเดียวของจีน ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์มานานนับพันปีจนมีเหง้าใหญ่เป็นพิเศษ

 เหง้าแห้งมีกลิ่นหอมฉุน รสขม และชาเล็กน้อย แต่จะหวานภายหลัง แพทย์จีนใช้โกฐหัวบัวเป็นยาแก้หวัด แก้ปวดศีรษะแก้โรคโลหิตจาง แก้ปวดประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปรกติแก้ปวดและเจ็บต่าง ๆ รวมทั้งปวดฟัน แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ไอ แก้วัณโรค แก้โรคเข้าข้อ และแก้ตกเลือด ใบมีกลิ่นหอม ใช้เป็นยาขับพยาธิในท้อง แก้บิด แก้ไอ เป็นยาขับลม แก้โรคประสาทเป็นยาฆ่าเชื้อ ใช้เป็นส่วนผสมในยาแก้หวัดและแก้ท้องร่วง [Bensky D. and Gamble A., Chinese Herbal Medicine; Materia Medica (Revised Edition)]

 แพทย์แผนไทยเรียกเหง้าแห้งที่มีขนาดใหญ่ว่าโกฐหัวบัวใหญ่ ส่วนที่มีขนาดเล็กกว่าเรียก โกฐหัวบัวน้อย ตำราสรรพคุณยาโบราณของไทยว่าโกฐหัวบัวมีกลิ่นหอม รสมัน ใช้ขับลม โกฐนี้อยู่ในพิกัดโกฐทั้ง ๕ โกฐทั้ง ๗ และ โกฐทั้ง ๙

 โกฐหัวบัวมีน้ำมันระเหยง่ายอยู่ราวร้อยละ ๒ ในน้ำมันนี้มีสารต่าง ๆ ferulic acid ร้อยละ ๐.๐๒ และ ligustilide ร้อยละ ๐.๔๒ นอกจากนั้น ยังมี tetramethyl-pyrazine, perlolyrine, spathulenol, crysophanol, sedanonic acid รวมทั้งชันที่มีรสเปรี้ยว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โกฐหัวบัว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ligusticum sinense Oliv. cv. Chuanxiong
ชื่อสกุล
Ligusticum
คำระบุชนิด
sinense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Oliver, Daniel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Oliver, Daniel (1830-1916)
ชื่ออื่น ๆ
ชวนเกียง, ชวนซีอง (จีน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ ศ. ดร.วิเชียร จีรวงส์