โกฐน้ำเต้า

Rheum tanguticum (Maxim.) Maxim. ex Regel

ชื่ออื่น ๆ
จี๋จ่าวต้าหวาง (จีนสําเนียงแมนดาริน)
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ราก เหง้า และลำต้นอ้วนสั้น กลวงใบเรียงเวียน ค่อนข้างกลม หูใบเป็นปลอกขนาดใหญ่ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีแดงอมม่วง ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปขอบขนานแกมรี มีสามมุมแหลมเป็นปีก

โกฐน้ำเต้าชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง (๐.๖-)๑.๕-๒ ม. รากและเหง้าอ้วนสั้น สีเหลือง ลำต้นอ้วนสั้น กลวงเปลือกเป็นร่องตามยาว ไม่มีขนหรือมีขนสั้นนุ่ม ข้อพองออก

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน ที่โคนต้นอาจมีน้อย หนาแน่น หรือออกเป็นกระจุก ใบค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กว้าง ยาว ๐.๓-๐.๖ ม. โคนรูปถึงหัวใจ ขอบหยักเป็นแฉกแบบนิ้วมือ ๕ แฉก ๓ แฉกกลางหยักลึกแบบขนนก ปลายแฉกแหลม มีขนสั้นนุ่มทางด้านล่าง ด้านบนมีปุ่มเล็ก ๆ หรือมีขนสีขาว มีเส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น ใบที่อยู่เหนือโคนต้นขึ้นมามีขนาดค่อย ๆ เล็กลงเรียงสลับกัน หยักเป็นแฉกมาก ก้านใบที่โคนต้นคล้ายทรงกระบอก ยาวเกือบเท่าแผ่นใบ มีปุ่มเล็ก ๆ หนาแน่น หูใบเป็นปลอกขนาดใหญ่ หุ้มลำต้น มีขนสั้นนุ่มด้านนอก

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่งแขนงชิดกัน ดอกสีแดงอมม่วง อาจพบมีสีแดงอ่อน ก้านดอกเรียวยาว ๒-๓ ซม. กลีบรวม ๖ กลีบ ค่อนข้างกลม วงนอก ๓ กลีบ วงใน ๓ กลีบ โตกว่าวงนอกประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้มักมี ๙ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่กว้าง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก แฉกมักพองกลม

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปขอบขนานแกมรูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. มีสามมุมแหลมเป็นปีก กว้าง ๒-๓ มม. มีเส้นตามยาวใกล้ขอบ เมล็ดรูปไข่ สีดำ

 โกฐน้ำเต้าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีนที่มณฑลกานซู ชิงไห่ ซีจ้าง (ธิเบต) พบขึ้นบริเวณที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๖๐๐-๓,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

 รากและเหง้าของพืชเหล่านี้จะถูกขุดขึ้นมาในฤดูใบไม้ร่วงเมื่อใบและต้นเหี่ยวเฉา หรืออาจขุดขึ้นมาตอนต้นฤดูใบไม้ผลิในระยะที่ต้นเริ่มแตกตาใบ นำมาล้างน้ำให้สะอาด ตัดเอารากแขนงเล็ก ๆ ออก ปอกเปลือกนอกออก ตัดเป็นแว่น ๆ เป็นชิ้น ร้อยเชือกแขวนไว้ให้แห้ง หรืออาจผึ่งแดดจนแห้งสนิทจะได้เครื่องยาที่แพทย์แผนโบราณไทยเรียก “โกฐน้ำเต้า” จีนเรียกต้าหวาง (สําเนียงแมนดาริน) หรือตั้วอึ๊ง (สําเนียงแต้จิ๋ว) มีชื่อสามัญว่า Rhubarb หรือ Medicinal rhubarb หรือ Chinese rhubarb

 โกฐน้ำเต้าที่มีขายในร้านยาไทยหรือร้านยาจีนนั้นส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มีลักษณะเป็นก้อนรูปกึ่งทรงกระบอก รูปกรวย รูปไข่ หรือเป็นชิ้นหรือแผ่นที่มีรูปร่างไม่แน่นอน ยาว ๓-๑๗ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๑๐ ซม. ผิวนอกสีน้ำตาลอมเหลือง หรือสีน้ำตาลอมแดงเมื่อลอกผิวออก เนื้อแน่นแต่อาจมีเนื้อนุ่มตรงกลาง รอยหักสีน้ำตาลอมแดง หรือสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนเหง้ามักมีไส้ไม้กว้าง มีจุดรูปดาวเรียงเป็นวงหรือกระจายอย่างไม่สม่ำเสมอ ส่วนที่เป็นรากมักมีเนื้อไม้มีเส้นตามแนวรัศมี วงแคมเบียมเห็นได้ชัดเจน ไม่มีจุดรูปดาว มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสขม ฝาดเล็กน้อย เมื่อเคี้ยวจะเหนี่ยวและรู้สึกว่าเป็นเม็ดหยาบ ๆ

 ตำรา “ไม้เทศเมืองไทย-สรรพคุณยาเทศและยาไทย” ของ เสงี่ยม พงษ์บุญรอด ว่า “เมื่อเคี้ยวโกฐน้ำเต้าจะทำให้เกิดน้ำลายมาก มีสรรพคุณแก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย หากใช้ในขนาดมาก ๆ จะเป็นยาระบาย โดยไม่มีระคายเคือง หลัง จากระบายแล้วจะสมานและคุมธาตุเอง”

 โบราณเรียกว่าเป็นยาระบายที่ “รู้เปิดรู้ปิด” แพทย์ตามชนบทเอาโกฐน้ำเต้ามานึ่งให้สุก แล้วตากแดดให้แห้ง ผสมเป็นยาระบาย ใช้แก้อาการท้องผูก โรคริดสีดวงทวาร ว่ามีสรรพคุณ “ขับลมลงสู่คูธทวาร ทำให้อุจจาระปัสสาวะเดินสะดวก” โกฐน้ำเต้าเป็นโกฐชนิดหนึ่งใน ๓ ชนิดที่แพทย์โบราณไทยจัดเป็น “พิกัดโกฐพิเศษ” (อีก ๒ ชนิดคือ โกฐกะกลิ้งและโกฐกักกรา)

 โกฐน้ำเต้าเป็นเครื่องยาที่รับรองในตำรายาแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับคริสต์ศักราช ๒๐๐๐ ในชื่อ Radix & Rhizoma Rhei มีข้อบ่งใช้สําหรับแก้อาการไข้ที่มีอาการท้องผูกร่วมด้วย แก้อาการปวดท้องเหตุท้องผูกอันทำให้มีอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่มาก แก้อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น ขนาดที่ใช้ ๓-๓๐ กรัม ต้มน้ำดื่ม โดยจะต้องต้มเป็นเวลานาน และหากใช้กับสตรีในระหว่างตั้งครรภ์พึงใช้ด้วยความระมัดระวัง นอกจากนั้น โกฐน้ำเต้ายังใช้ภายนอกแก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยบดให้เป็นผงละเอียด ผสมน้ำเล็กน้อยแล้วพอกบริเวณแผล

 องค์ประกอบทางเคมีของโกฐน้ำเต้าเป็นสารพวกแอนทราควิโนน แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มแอนทราควิโนนอิสระ เช่น chrysophanol, emodin, rhein, กลุ่มไกลโคไซด์แอนทราควิโนน เช่น chrysophanein, glucoemodin, palmatin, และกลุ่ม bianthrones เช่น sennosides, A-F, rheidins A-C สารเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสารที่แสดงฤทธิ์เป็นยาถ่ายยาระบาย โดยปริมาณของ Sennosides จะสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการแสดงฤทธิ์ดังกล่าว นอกจากนั้น ในโกฐน้ำเต้ายังมีสารฝาด ซึ่งมีฤทธิ์ฝาดสมาน

 โกฐน้ำเต้าที่นำเข้าจากประเทศอินเดีย มักเป็นรากและเหง้าแห้งของพืชในสกุลเดียวกัน แต่เป็นชนิดที่พบขึ้นในประเทศอินเดีย คือชนิด Rheum emodi Wall. เครื่องยาที่ได้จากพืชชนิดนี้ใช้กันมากในอินเดียและประเทศใกล้เคียง เช่น เนปาล ปากีสถาน ตำราอายุรเวทของอินเดียมีรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องยานี้ อย่างไรก็ตาม โกฐน้ำเต้าที่ได้จากพืชชนิดหลังนี้มีคุณภาพด้อยกว่าโกฐน้ำเต้าที่ได้จากพืช ๓ ชนิดข้างต้นอันมีแหล่งกำเนิดจากประเทศจีน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โกฐน้ำเต้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rheum tanguticum (Maxim.) Maxim. ex Regel
ชื่อสกุล
Rheum
คำระบุชนิด
tanguticum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Maximowicz, Carl Johann (Ivanovič)
- Regel, Eduard August von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Maximowicz, Carl Johann (Ivanovič) (1827-1891)
- Regel, Eduard August von (1815-1892)
ชื่ออื่น ๆ
จี๋จ่าวต้าหวาง (จีนสําเนียงแมนดาริน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
-