โกฐกักกรา

Pistacia chinensis Bunge subsp. integerrima (Straw ex Brandis) Rchb.f.

ชื่ออื่น ๆ
โกฐกักรา, โกฐกัตรา, โกฐกักตรา
ไม้ต้น ผลัดใบ เปลือกสีเทาเข้มหรือเกือบดำ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่หรือคู่ เรียงเวียน ใบย่อยเรียงตรงข้าม รูปใบหอก ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ดอกเล็ก ไม่มีกลีบดอก ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง เมื่อสุกสีส้มแล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วง

โกฐกักกราเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงประมาณ ๑๖ ม. ลำต้น คดงอ เปลือกสีเทาเข้มหรือเกือบดำ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่หรือคู่ เรียงเวียน ยาว ๑๕-๒๕ ซม. ก้านใบสั้น ใบย่อยเรียงตรงข้ามหรือเยื้องกัน เล็กน้อย ๔-๕ คู่ รูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเบี้ยว ขอบเรียบ เส้นใบโค้ง มีข้างละ ๑๐-๑๘ เส้น ก้านใบย่อยยาว ๑-๒ มม. ใบอ่อนมีขนนุ่มตามก้านใบและเส้นใบ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ดอกแยกเพศต่างต้น ขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้ยาว ๖-๗ ซม. ดอกอัดแน่น มีขนนุ่ม กลีบเลี้ยง ๓-๕ กลีบ เกสรเพศผู้ ๕-๗ อัน อับเรณูขนาดใหญ่ รูปขอบขนาน ปลายมน สีแดงเข้ม ช่อดอกเพศเมียยาว ๑๕-๒๐ ซม. โปร่ง ก้านดอกย่อยยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยง ๗-๙ กลีบ เรียง ๒ ชั้น รูปแถบมีใบประดับสั้นกว่ากลีบเลี้ยง ๒ ใบ ทั้งใบประดับและกลีบเลี้ยงร่วงง่าย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก สีแดงอวบน้ำ โค้งลง

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. ผิวย่น เมื่อสุกสีส้มแล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วง

 โกฐกักกรามีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเทือกเขาหิมาลัยในประเทศอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ต่อไปจนถึงประเทศอิรัก อิหร่าน และอียิปต์ พบขึ้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๕๐-๒,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

 พืชชนิดนี้เป็นพืชที่ปลูกเพื่อเก็บปุ่มหูด กิ่งอ่อนของต้นโกฐกักกราเมื่อถูกแมลงเจาะจะสร้างปุ่มหูดขึ้นมา ปุ่มหูดนี้มีลักษณะแข็ง กลม ยาว เรียวแหลมทั้ง ๒ ข้าง คล้ายเขาสัตว์ผิวบาง ตรงกลางกลวง ในอินเดีย เนปาล และศรีลังกา ใช้ปุ่มหูดเป็นยาถอนพิษงูและแมลงป่อง ยาแก้หืด ยาฝาดสมาน ยาถ่ายอย่างแรง ยาขับเสมหะ และยาบำรุง คัมภีร์อายุรเวทว่าใช้แก้โรคเบื่ออาหาร แก้ไอ แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้ไข้ และแก้โรคปอด ใช้เตรียมเป็นยาพอกผิวหนังแก้โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) เตรียมเป็นยาต้ม เอาน้ำอมกลั้วปากและคอ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ไข้และแก้โรคเกี่ยวกับหลอดลมในเด็ก

 แพทย์แผนไทยเรียกปุ่มหูดจากพืชนี้ว่า “โกฐกักกรา” ตามชื่อในภาษาแขก ตำราสรรพคุณยาโบราณของไทยว่ามีสรรพคุณแก้ไอ แก้หืด แก้ไข้ แก้เบื่ออาหารและแก้คลื่นไส้ตำรายาโบราณของไทยจัดโกฐกักกราอยู่ในพิกัดยาไทยที่เรียกพิกัดโกฐพิเศษ อันได้แก่ โกฐกะกลิ้ง โกฐกักกรา และโกฐน้ำเต้า

 องค์ประกอบเคมีในโกฐกักกราเป็นสารฝาดร้อยละ ๒๐-๗๕ นอกจากนั้น ยังมีน้ำมันระเหยง่าย ชัน triterpenic acid ซึ่งเป็นไอโซเมอร์กัน ๒ ชนิด คือ pistacienoic acid A และ pistacienoic acid B

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โกฐกักกรา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pistacia chinensis Bunge subsp. integerrima (Straw ex Brandis) Rchb.f.
ชื่อสกุล
Pistacia
คำระบุชนิด
chinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bunge, Alexander Andrejewitsch (Aleksandr Andreevic, Aleksandrovic) von
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. integerrima
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Straw ex Brandis) Rchb.f.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1803-1890)
ชื่ออื่น ๆ
โกฐกักรา, โกฐกัตรา, โกฐกักตรา
ผู้เขียนคำอธิบาย
-