โกฐกระดูก

Saussurea lappa C.B.Clarke

ชื่ออื่น ๆ
บักเฮียง, มู่เชียง (จีน)
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ใบเรียงเวียน รูปสามเหลี่ยม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน แบนโค้ง แพปพัสสีน้ำตาล

โกฐกระดูกเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง ๑-๒ ม. รากใหญ่ แข็ง แตกแขนงมาก ยาวได้ถึง ๖๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ ซม. มีกลิ่นหอมฉุน ลำต้นตั้งตรง แข็งแตกกิ่งน้อย ตอนบนมีขนนุ่มสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน ใบที่โคนต้นออกเป็นกระจุก รูปสามเหลี่ยม ขนาดใหญ่ ขอบใบหยักไม่สม่ำเสมอและเป็นคลื่น ยาว ๐.๖-๑.๒ ม. แฉกปลายกว้างประมาณ ๓๐ ซม. โคนใบแผ่เป็นปีกยาว ใบตามต้นมีขนาดเล็ก รูปสามเหลี่ยมแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑๗-๓๐ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. อาจมีโคนใบแผ่เป็นแผ่นบางห่อลำต้นไว้บางส่วน ด้านบนมีขนสากด้านล่างเกลี้ยง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น มี ๒-๕ ช่อ ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ไม่มีก้านช่อ ช่อย่อยค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓.๗ ซม. มีวงใบประดับรูปใบหอกแกมรูปไข่แข็ง เรียบ ปลายแหลม โค้งลง กลีบเลี้ยงเป็นขน กลีบดอกสีม่วงอมฟ้า โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๒ ซม. เกสรเพศผู้ ๕ อัน อับเรณูติดกัน ยื่นพ้นหลอดดอก โคนมีรยางค์เป็นพู่ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน แบนโค้ง ยาวประมาณ ๘ มม. ขอบหนา มีสันตามยาว ๒ สัน ปลายแคบลง แพปพัสสีน้ำตาล ยาวประมาณ ๑.๖ ซม.

 โกฐกระดูกเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของอินเดีย พบขึ้นตามหุบเขาชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒,๕๐๐-๔,๐๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เป็นผลระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ปัจจุบันเป็นพืชปลูกในประเทศจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เนปาล ภูฏาน เกาหลี และเวียดนาม

 รากแห้งมีกลิ่นหอม แพทย์ไทยเรียก โกฐกระดูก เพราะมีรูปร่างเหมือนกระดูก

 ในประเทศจีนและอินเดียเคยใช้ผงโกฐกระดูกสูบแทนฝิ่นปัจจุบันยังมีสูบกันในชนบทบางแห่งของอินเดีย ผงโกฐกระดูกนอกจากจะใช้เป็นเครื่องเทศแล้ว ยังใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ยาฝาด สมาน เป็นยาหลักใช้ทำขี้ผึ้งฝาดสมานสําหรับเรียกเนื้อในแผลเรื้อรังและแผลกลาย และเป็นยาชูกำลังในผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค ใช้สระผมช่วยทำให้ผมสีดอกเลากลับทำได้ นอกจากนั้น ยังใช้เป็นยาปราบหนอนที่กินหญ้าและขนสัตว์ ใช้ผสมทำเทียนอบ ทำธูปหอม ใช้ผสมกับชะมดเชียงเป็นยาแก้ปวดฟัน ชาวฮินดูใช้โกฐกระดูกเป็นยาชูกำลัง แก้ไอ แก้ท้องเสีย แก้โรคผิวหนัง และเป็นยากระตุ้นกำหนัด หมอพื้นบ้านชาวมุสลิมใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับพยาธิ แก้ไข้จับสั่น แก้ไอกรน และแก้โรคไขข้อ

 ตำราสรรพคุณยาโบราณของไทยว่า โกฐกระดูกมีรสขม หวาน มัน ใช้แก้เสมหะและลม แก้หืด หอบ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่นบำรุงกระดูก โกฐนี้จัดอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง ๗ และโกฐทั้ง ๙

 โกฐกระดูกมีองค์ประกอบเป็นน้ำมันระเหยง่ายประมาณร้อยละ ๐.๓-๓ น้ำมันนี้มีองค์ประกอบหลักเป็น aplotaxene ประมาณร้อยละ ๒๐ dihydrocostus lactone ประมาณร้อยละ ๑๕ costic acid ประมาณร้อยละ ๑๔ costus lactone ประมาณร้อยละ ๑๐ Costol ประมาณร้อยละ ๗ เป็นต้น โกฐกระดูกมีน้ำตาลอินูลิน (inulin) อยู่ประมาณร้อยละ ๑๘ ของน้ำหนักแห้ง นอกนั้นเป็นสารองค์ประกอบอื่น ๆ รวมทั้ง แอลคาลอยด์ Saussurine

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โกฐกระดูก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Saussurea lappa C.B.Clarke
ชื่อสกุล
Saussurea
คำระบุชนิด
lappa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Clarke, Charles Baron
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1832-1906)
ชื่ออื่น ๆ
บักเฮียง, มู่เชียง (จีน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
-