โกงกางใบใหญ่

Rhizophora mucronata Poir.

ชื่ออื่น ๆ
กงกอน (เพชรบุรี, ชุมพร); กงเกง (นครปฐม); กางเกง, พังกา, พังกาใบใหญ่ (ใต้); โกงกางนอก (เพชรบุรี); ลาน
ไม้ต้น มีรากค้ำโค้งจรดดินไม่หักมุม ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก หูใบสีเขียวหรือชมพูเรื่อ ๆ ช่อดอก ออกตามง่ามใบผลแบบผลมีเนื้อ คล้ายรูปไข่ปลายคอด สีน้ำตาลอมเขียว เมล็ดงอกได้ขณะที่ผลยังอยู่บนต้น

โกงกางใบใหญ่เป็นไม้ต้น สูง ๓๐-๔๐ ม. มีรากเหนือโคนต้น ๒-๗ ม. รากที่โคนต้นหรือรากค้ำแตกแขนงระเกะระกะและจะค่อย ๆ โค้งจรดดิน ไม่หักเป็นมุมดังเช่นรากของโกงกางใบเล็ก เรือนยอดรูปกรวยคว่ำแคบ ๆ เปลือกหยาบสีเทาคล้ำจนถึงดำ แตกเป็นร่องตื้นตามยาวและตามขวางทั่วไป มีลักษณะคล้ายตารางสี่เหลี่ยม เมื่อทุบเปลือกทิ้งไว้สักครู่เปลือกในจะมีสีเหลือง เหลืองอมส้ม จนถึงสีส้ม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบคู่ล่าง ๆ จะร่วงไปเหลือกลุ่มใบที่ปลายกิ่ง ใบรูปรีถึงรีกว้าง กว้าง ๕-๑๓ ซม. ยาว ๔-๒๔ ซม. ปลายมนหรือแหลม มีติ่งหนามแข็ง สีดำโคนรูปลิ่ม เส้นกลางใบด้านล่างสีเขียว เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัดแผ่นใบหนา มีจุดเล็ก ๆ สีดำกระจัดกระจายทั่วไปทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒.๕-๖ ซม. หูใบแคบ สีเขียวหรือชมพูเรื่อ ๆ ปลายแหลมยาว ประกบกันเป็นคู่ระหว่างคู่ใบเห็นได้ชัดที่ปลายกิ่ง ยาว ๕-๙ ซม. ร่วงง่าย

 ช่อดอกออกตามง่ามใบที่ใบติดอยู่หรือร่วงไปในเวลาต่อมา ก้านช่อดอกยาว ๓-๗ ซม. แตกแขนงสั้น ๆ มีดอก ๒-๑๒ ดอก สีขาวหรือเหลืองอ่อน ก้านดอกยาว ๐.๔-๑ ซม. ดอกตูมรูปไข่ มีใบประดับรองรับที่ฐานดอก โคนใบประดับติดกัน


ปลายแยกเป็น ๒ แฉก กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ต่อมาปลายกลีบจะโค้งลงเกือบแนบก้านดอก กลีบดอก ๔ กลีบ ร่วงง่าย รูปใบหอก ยาว ๐.๖-๑ ซม. ขอบกลีบมีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๘ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง มักมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลคล้ายรูปไข่ปลายคอด กว้าง ๒-๓.๕ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. สีน้ำตาลอมเขียว ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปทรงกระบอก เรียวค่อนข้างตรง ยาว ๓๐-๖๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๔-๑.๙ ซม. ปลายเรียวแหลมยาว ผิวเป็นมัน สีเขียว มีตุ่มขรุขระทั่วไปโกงกางใบใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขึ้นในป่าชายเลนตามฝั่งทะเลทั่วไป ขึ้นเป็นกลุ่มเดียวล้วน ๆ ในที่มีดินเลนอ่อนและลึกบริเวณฝั่งแม่น้ำหรือคลองด้านนอกที่ติดกับทะเล ที่มีตะกอนของสารอินทรีย์สะสมค่อนข้างหนาจนเกือบเป็นสีดำ และมีกลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่า ในต่างประเทศพบตั้งแต่ฝั่งทะเลทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา เอเชีย ภูมิภาคมาเลเซีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกจนถึงหมู่เกาะต้องกา

 ลักษณะเนื้อ ความทนทาน และการใช้ประโยชน์ เช่น เดียวกับโกงกางใบเล็ก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โกงกางใบใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhizophora mucronata Poir.
ชื่อสกุล
Rhizophora
คำระบุชนิด
mucronata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Poiret, Jean Louis Marie
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1755-1834)
ชื่ออื่น ๆ
กงกอน (เพชรบุรี, ชุมพร); กงเกง (นครปฐม); กางเกง, พังกา, พังกาใบใหญ่ (ใต้); โกงกางนอก (เพชรบุรี); ลาน
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข