โกงกางใบเล็ก

Rhizophora apiculata Blume

ชื่ออื่น ๆ
โกงกาง (ระนอง), ฟังกาทราย (กระบี่), พังกาใบเล็ก (พังงา)
ไม้ต้น มีรากค้ำหักมุมตั้งฉาก ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี ปลายเป็นติ่งหนาม หูใบระหว่างก้านใบสีชมพู ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกเหนือรอยแผลใบ แต่ละช่อมีดอก คู่ ดอกสีเหลืองอมเขียว ผลแบบผลมีเนื้อ รูปไข่ มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เมล็ดงอกได้ขณะที่ผลยังอยู่บนต้น

โกงกางใบเล็กเป็นไม้ต้น สูง ๒๕-๓๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓๐-๕๐ ซม. มีรากเสริมออกมาเหนือโคนต้น ๓-๔ ม. รากที่โคนต้นหรือรากแตกแขนงระเกะระกะไม่เป็น ระเบียบ ทำมุมเกือบตั้งฉากกับลำต้นและหักเกือบเป็นมุมฉาก ลงดิน เรือนยอดรูปกรวยคว่ำแคบเปลือกสีเทาคล้ำหรือเทาอม ชมพู แตกเป็นร่องตื้นตามยาวอาจมีร่องสั้น ๆ แตกตามขวาง คั่นระหว่างร่องยาวอย่างไม่เป็นระเบียบ เมื่อทุบเปลือกทิ้งไว้ สักครู่เปลือกในจะมีสีแสดถึงแดงเลือดหมู ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบคู่ล่าง ๆ จะร่วง ไปเหลือแต่คู่ใบ ๒-๔ คู่ เป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง รูปรี กว้าง ๔-๔ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลมเล็กยาว แข็ง สีดำ โคนรูปลิ่ม แผ่นใบหนา เส้นกลางใบด้านล่างสีแดง เรื่อ ๆ หรือสีชมพูอมแดง เส้นแขนงใบปรากฏราง ๆ ก้านใบ


ยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. มักมีสีแดงเรื่อ ๆ หูใบระหว่างก้านใบแคบปลายแหลมยาวประกบกันเป็นคู่ระหว่างคู่ใบเห็นได้ชัดที่ปลายกิ่ง ยาว ๔-๙ ซม. สีชมพู ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก เหนือรอยแผลใบ ก้านช่อดอกยาว ๐.๖-๒ ซม. ปลายก้านช่อมีดอกที่ไม่มีก้านหรือมีก้านสั้น ๑ คู่ ดอกสีเหลืองอมเขียวหรือเหลืองอ่อน ดอกตูมรูปไข่ ยาว ๑.๒-๑.๖ ซม. ใบประดับที่ฐานดอกติดกันคล้ายรูปถ้วย กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. กลีบหนา ปลายแหลม ต่อมาจะโค้งลงเกือบแนบก้านดอกกลีบดอก ๔ กลีบ ร่วงง่าย รูปใบหอก กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. ขอบกลีบไม่มีขน เกสรเพศผู้ ๑๒ อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมากหรือไม่ปรากฏชัด รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ

 ผลแบบผลมีเนื้อ คล้ายรูปไข่กลับ ยาว ๒-๓ ซม. สีน้ำตาลคล้ำ ผิวค่อนข้างขรุขระ เมล็ดงอกได้ในขณะที่ผลยังติดอยู่กับต้น ลำต้นใต้ใบเลี้ยงรูปทรงกระบอก เรียวโค้งเล็กน้อย ยาว ๓๐-๔๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. มีขนาดโตขึ้นที่ส่วนปลาย ผิวเป็นมัน สีเขียวหรือเขียวอมม่วง ค่อนข้างเรียบหรือมีตุ่มขรุขระกระจัดกระจาย

 โกงกางใบเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขึ้นในป่าชายเลนตามฝั่งทะเลทั่วไปเป็นกลุ่มเดียวล้วน ๆ ในบริเวณที่มีดินเลนอ่อนค่อนข้างลึกและมีน้ำทะเลท่วมถึงตลอดเวลา อาจมีโกงกางใบใหญ่ขึ้นปะปนอยู่บ้าง ในต่างประเทศพบตั้งแต่ฝั่งทะเลศรีลังกา อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคมาเลเซีย ภูมิภาคไมโครนีเซีย จนถึงภาคเหนือของทวีปออสเตรเลีย

 เนื้อไม้สีแดงถึงแดงแก่ เสี้ยนตรงสม่ำเสมอ เนื้อหยาบแข็งและหนัก เลื่อยผ่าได้ง่ายมาก ใช้ทำเสาและหลักในที่น้ำทะเลขึ้นถึง มีความทนทาน ๒-๓ ปี หรือใช้ทำกลอนหลังคาจากรอด ตง อกไก่ของบ้านตามชายทะเล ส่วนมากใช้ทำถ่านเปลือกให้น้ำฝาดประเภท catechol ให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมผ้า แหอวน หนัง ฯลฯ น้ำจากเปลือกใช้ชะล้างแผล ห้ามเลือด กินแก้ ท้องร่วง แก้บิด.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โกงกางใบเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhizophora apiculata Blume
ชื่อสกุล
Rhizophora
คำระบุชนิด
apiculata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
โกงกาง (ระนอง), ฟังกาทราย (กระบี่), พังกาใบเล็ก (พังงา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข