แตรชมพู

Tabebuia pallida (Lindl.) Miers

ชื่ออื่น ๆ
ไวต์ซีดา (กรุงเทพฯ)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก เปลือกสีน้ำตาลอมเทา มักแตกเป็นร่องลึก ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อย ๑-๓ ใบ พบน้อยที่มี ๕ ใบ รูปรีถึงรูปขอบขนานแกมรูปรีหรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งเป็นช่อสั้น ๆ แต่มักพบลดรูปเหลือ ๑-๒ ดอก ดอกสีม่วงอมชมพูจนถึงสีเกือบขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก ปลายเรียว มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดสีเหลืองอมน้ำตาล รูปทรงรี ค่อนข้างแบน มีปีกเป็นเยื่อบาง ๒ ปีก มีเมล็ดจำนวนมาก

แตรชมพูเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๓-๑๕ ม. เปลือกสีน้ำตาลอมเทา มักแตกเป็นร่องลึก

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อย ๑-๓ ใบ พบน้อยที่มี ๕ ใบ รูปรีถึงรูปขอบขนานแกมรูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๑๑ ซม. ยาว ๕-๒๒ ซม. ปลายมน โคนมนกลมหรือเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอ่อนกว่า มีเกล็ดรังแค เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๗ เส้น ก้านใบยาว ๕-๒๕ ซม. ก้านใบย่อยใบโคนสั้นมาก ก้านใบย่อยใบปลายยาว ๕-๗ ซม. ตามเส้นใบและก้านใบทั้ง ๒ ด้านมีขนสั้นนุ่มประปราย แต่ด้านล่างมีมากกว่าด้านบน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งเป็นช่อสั้น ๆ แต่มักพบลดรูปเหลือ ๑-๒ ดอก ดอกสีม่วงอมชมพูจนถึงสีเกือบขาว แต่ละดอกมีก้านดอกยาวประมาณ ๒ ซม. กลีบเลี้ยงหนา สีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๑-๒ ซม. ปลายแยกเป็นรูปปากเปิด ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๒ ซีก สีเขียวอ่อนอมเหลือง มีเกล็ดรังแคเล็ก ๆ ประปราย กลีบดอกบาง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปแตร ยาว ๕-๗ ซม. ด้านนอกสีเหลืองนวล ด้านในโดยเฉพาะปากหลอดดอกเมื่อบานสีเหลืองสด ปลายแยกคล้ายรูปปากเปิด สีม่วงอมชมพูถึงสีเกือบขาว ซีกบนมี ๒ แฉก ซีกล่างมี ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปเกือบกลม ขนาดไม่เท่ากัน


กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๓-๓ ซม. แฉกซีกล่างใหญ่กว่าแฉกซีกบนเล็กน้อย ขอบหยักเป็นคลื่นและมีขน แผ่นแฉกกลีบดอกยับย่น แต่ละแฉกกลีบมีเส้นกลีบสีชมพูเข้ม ๕ เส้น เรียงขนานจากโคนหลอดดอก แล้วผายบานจากคอหลอดดอกไปถึงใกล้แฉกกลีบแต่ละหยัก เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน คู่สั้นยาว ๑-๑.๓ ซม. คู่ยาวยาว ๑.๕-๑.๘ ซม. โคนก้านชูอับเรณูมีขน พูอับเรณูถ่างมาก รูปทรงรี สีเหลือง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี ๑ เกสร เป็นเส้นยาว ๒-๔ มม. จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๘ มม. ผิวมีเกล็ดรังแค รังไข่มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓-๔.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียแบน รูปช้อน

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้าง ๑-๑.๓ ซม. ยาว ๗-๒๐ ซม. พบน้อยที่ยาวมากกว่า ๒๐ ซม. ปลายเรียวมีติ่งแหลม ผิวมีเกล็ดรังแค มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดสีเหลืองอมน้ำตาล รูปทรงรี ค่อนข้างแบน กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๗-๙ มม. มีจำนวนมาก ด้านข้างเมล็ดมีปีกเป็นเยื่อบางสีขาว ๒ ปีก

 แตรชมพูเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ทนแล้งได้ดี นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งร้อน ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงตุลาคม

 ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แตรชมพู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tabebuia pallida (Lindl.) Miers
ชื่อสกุล
Tabebuia
คำระบุชนิด
pallida
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John
- Miers, John
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John (1799-1865)
- Miers, John (1789-1879)
ชื่ออื่น ๆ
ไวต์ซีดา (กรุงเทพฯ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อารีย์ ทองภักดี