แตงแพะ

Gymnema griffithii Craib

ชื่ออื่น ๆ
มะแตงแพะ (เชียงใหม่)
ไม้เถาล้มลุก ทุกส่วนมียางใส กิ่งอ่อนมีขนยาวค่อนข้างหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่ช่อดอกแบบช่อกระจุก อาจแยกแขนง ออกระหว่างคู่ของโคนก้านใบ ทั้งช่อยาวใกล้เคียงกับก้านใบ ดอกสีเขียวนวลหรือสีเขียวนวลแกมสีม่วง เมื่อบานรูประฆังแกมรูปวงล้อ ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ แต่มักเจริญเพียง ๑ ผล รูปทรงรีแกมทรงรูปไข่ เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลม ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว

แตงแพะเป็นไม้เถาล้มลุก ทุกส่วนมียางใส กิ่งอ่อนมีขนยาวค่อนข้างหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๕-๑๑ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลมสั้น โคนมนถึงมนกลม ขอบมีขนครุย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างมีขนยาวนุ่มเส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ปลายโค้งเชื่อมกัน เส้นใบย่อยแบบร่างแหห่าง เห็นเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบเรียวเล็ก ยาว ๒-๓.๕ ซม. มีขนยาว

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก อาจแยกแขนง ออกระหว่างคู่ของโคนก้านใบ เป็นช่อค่อนข้างกลม ทั้งช่อยาวใกล้เคียงกับก้านใบ ก้านช่อสั้นถึงเกือบไร้ก้าน แกนกลางช่อหรือแกนช่อย่อยอวบหนาและสั้น ดอกในช่อค่อนข้างแน่น สีเขียวนวลหรือสีเขียวนวลแกมสีม่วง ดอกตูมรูปค่อนข้างกลม ดอกบานรูประฆังแกมรูปวงล้อ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๒ ซม. ก้านดอกยาว ๓-๖ มม. มีขนสั้นประปราย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยหรือแยกเป็นอิสระ แต่ละกลีบรูปกลมแกมรูปรีกว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมนกลมขอบมีขนครุย ด้านนอกมีขนสั้นประปราย ด้านในเกลี้ยงและมีต่อมระหว่างโคนกลีบ กลีบดอกค่อนข้างหนา มีเนื้อและมีแถบสีม่วงตามขอบทั้งด้านนอกและด้านในโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูปถ้วยตื้น ๆ ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแหลมมน โคนแฉกกลีบดอกมีแถบขนสีเหลืองยาวและตรง และระหว่างโคนกลีบมีกลุ่มขนยาวตรงสีขาว ยาวกว่าขนที่โคนกลีบ เกสรเพศผู้ ๕ เกสร แต่ละเกสรรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก เชื่อมติดกันทางด้านข้างเป็นเส้าเกสร รูปคล้ายหัวเข็มหมุด



ยาวประมาณ ๒.๕ มม. อับเรณูรูปทรงรี ส่วนปลายมีเยื่อเป็นแผ่นบางรูปไข่ โค้งปิดยอดเกสรเพศเมีย ชุดกลุ่มเรณูมีกลุ่มเรณู ๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มรูปทรงกลมแกมทรงรูปไข่กลับ มักเบี้ยวและติดกับก้านกลุ่มเรณูซึ่งยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวกลุ่มเรณู ปุ่มยึดก้านกลุ่มเรณูสีน้ำตาล รูปขอบขนาน ยาวกว่ากลุ่มเรณู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกจากกัน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นเชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ขอบค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ๕ เหลี่ยม

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ แต่มักเจริญเพียง ๑ ผล รูปทรงรีแกมทรงรูปไข่ เมื่ออ่อนสีเขียวอมม่วง ผลแก่สีน้ำตาลอ่อน กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาวประมาณ ๔.๕ ซม. เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลม และมีขอบบาง กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๑-๑.๒ ซม. ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว ยาวประมาณ ๓ ซม. มีจำนวนมาก

 แตงแพะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าผลัดใบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๔๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แตงแพะ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gymnema griffithii Craib
ชื่อสกุล
Gymnema
คำระบุชนิด
griffithii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
มะแตงแพะ (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง