แดงนา

Syzygium pachyphyllum (Kurz) Merr. et L. M. Perry

ชื่ออื่น ๆ
ชามุ (นราธิวาส); มัก (ยะลา); หว้านา (พังงา)

ไม้ต้นไม่ผลัดใบ เรือนยอดค่อนข้างทึบ ลำต้นเปลาตรง โคนต้นมีพอนเล็กน้อย เปลือกนอกสีน้ำตาลเทาหรือสีเทา กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบ ขนานแกมรูปใบหอก เส้นขอบใน ๑ เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง เป็นช่อเดี่ยวหรือแตกแขนงจากโคนช่อ ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง แกนกลางช่อและแขนงช่อค่อนข้างกลมหรือเป็นสันสี่เหลี่ยม ดอกสีขาว กลีบดอก แต่ละกลีบมีจุดต่อม ๑๕๐-๒๐๐ ต่อม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ผลแก่รูปทรงกลม มีกลีบเลี้ยงติดทน ที่ปลายผล สุกสีดำ ผิวมันวาว มีเมล็ดน้อย


     แดงนาเป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง ๑๕ ม. เรือนยอดค่อนข้างทึบ ลำต้นเปลาตรง โคนต้นมีพอนเล็ก น้อย เปลือกนอกสีน้ำตาลเทาหรือสีเทา ค่อนข้างเรียบ หรือแตกล่อนเป็นแผ่น เปลือกในสีน้ำตาลครีม กิ่งอ่อน รูปทรงกระบอก เกลี้ยง กิ่งแก่สีขาวเทา
     ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกม รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๓.๒-๘.๕ ซม. ยาว ๖-๒๐.๒ ซม. ปลายแหลม เป็นติ่ง แหลม มน หรือเว้าบุ๋ม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อน ข้างเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่าง สีเขียวอ่อน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทาง ด้านบน นูนเด่นทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นขอบใน ๑ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๓-๙ มม. เกลี้ยง ไม่มี หูใบ ใบแก่ก่อนร่วงสีน้ำตาลเหลือง
     ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง เป็นช่อเดี่ยว หรือแตกแขนงจากโคนช่อ ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ช่อยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ก้านช่อยาวได้ถึง ๓ ซม. แกนกลางช่อ และแขนงช่อดอกค่อนข้างกลมหรือเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบ ประดับและใบประดับย่อยรูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ ๕ มม. ดอกสีขาว ไร้ก้าน ออกเป็นกระจุก กระจุกละ ๓ ดอก ฐานดอกรูปกรวย ยาว ๑-๑.๓ ซม. เป็นสันเหลี่ยม ตามยาวเด่นชัด ก้านดอกเทียมยาว ๕-๖ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ สีเขียวอ่อน รูปครึ่งวงกลม ยาว ๒.๑-๒.๘ มม. กลีบดอก ๔ กลีบ รูปค่อนข้างกลม ยาว ๖-๙.๔ มม. ขอบกลีบเป็นเยื่อบางใส แต่ละกลีบมีจุดต่อม ๑๕๐-๒๐๐ ต่อม เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกเป็นอิสระ เกสรที่อยู่ รอบนอกยาว ๐.๙-๑.๒ ซม. ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. ติดด้านหลัง ปลายแกนอับเรณูยื่นเป็นต่อม รูปรีแกมรูปขอบขนาน รังไข่ อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๓๑-๔๕ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายเส้นด้าย ยาว ๑-๑.๒ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มขนาดเล็ก
     ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ผลแก่รูป ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. กลีบเลี้ยง ติดทนที่ปลายผล สุกสีดำ ผิวมันวาว มีเมล็ดน้อย
     แดงนามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย เฉพาะทางภาคใต้ พบตามที่ราบลุ่ม ป่าดิบชื้น ที่ลุ่มน้ำ ท่วมขัง และขอบป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึง ประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่ เมียนมา มาเลเซีย และเกาะบอร์เนียว.

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แดงนา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Syzygium pachyphyllum (Kurz) Merr. et L. M. Perry
ชื่อสกุล
Syzygium
คำระบุชนิด
pachyphyllum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- (Kurz)
- Merr. et L. M. Perry
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (Kurz) ช่วงเวลาคือ (1834-1878)
- Merr. ช่วงเวลาคือ (1876-1956)
- L. M. Perry ช่วงเวลาคือ (1895-1992)
ชื่ออื่น ๆ
ชามุ (นราธิวาส); มัก (ยะลา); หว้านา (พังงา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายสุคิด เรืองเรื่อ
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.