แซะ

Callerya atropurpurea (Wall.) Schot

ชื่ออื่น ๆ
กะแซะ (สุราษฎร์ธานี); กาแซะ, ไม้แซะ, ต้นแซะ, หยีน้ำ (ใต้); ยีนิเก๊ะ (มลายู-นราธิวาส); พุงหมู (ตะวันอ
ไม้ต้น ลำต้นมีพูพอน เมื่อเปลือกเป็นแผลจะมียางสีแดงซึมออกมา ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่เรียงเวียน ใบย่อย ๗-๑๑ ใบ เรียงตรงข้าม หนาและเป็นมันเงา รูปรี รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีแดงเข้มหรือสีม่วงเข้ม มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว ค่อนข้างแบน รูปทรงรี รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือบวมพองจนเกือบเป็นรูปทรงกระบอก ภายในมีเมล็ดขนาดใหญ่ ๑-๓ เมล็ด รูปทรงกลมนูน

 แซะเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๓๐ ม. ลำต้นตรง มีพูพอน เรือนยอดกว้างและเป็นพุ่มทึบ เปลือกลำต้นเรียบและบาง สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเทา บางครั้งแตกเป็นร่องและหลุดเป็นแผ่นบาง เปลือกในและเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน เมื่อเปลือกเป็นแผลจะมียางสีแดงซึมออกมา บริเวณที่ยังอ่อนใกล้ยอดมักมีขนเมื่อแก่เกลี้ยง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ใบย่อย ๗-๑๑ ใบ เรียงตรงข้าม หนาและเป็นมันเงา รูปรี รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนรูปลิ่มถึงมนกลม เบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนเป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๖ เส้น เห็นชัดทางด้านบน ปลายเส้นโค้งขึ้นไปหาปลายใบ บางครั้งเชื่อมกับเส้นแขนงใบที่อยู่ถัดไป เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาวได้ถึง ๑๐ ซม. มีขนหรืออาจเกลี้ยงเมื่อใบแก่ แกนกลางใบยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ด้านบนเป็นร่องตื้น ๆ มีขนหรืออาจเกลี้ยงเมื่อใบแก่ ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓.๕ ซม. ร่วงง่าย ไม่มีหูใบย่อย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑.๕-๕ ซม. แกนกลางช่อดอกยาวได้ถึง ๑๒ ซม. ทุกส่วนของช่อดอกมีขนสั้นหนานุ่มกระจายทั่วไป ใบประดับที่รองรับแขนงช่อดอกรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ ๑ มม.


ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง ร่วงง่าย ช่อย่อยแบบช่อกระจะ ใบประดับที่รองรับดอกรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๑.๕-๓ มม. ด้านนอกมีขนด้านในเกลี้ยง ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๓-๖ มม. มีขนใบประดับย่อยที่โคนกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง ดอกรูปดอกถั่ว มีกลิ่นหอมกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ ๖ มม. สีแดงเข้มหรือมีสีม่วงเข้ม หรือสีแดงแกมเขียวเล็กน้อยบริเวณใกล้แฉกกลีบเลี้ยง มีขนทั้ง ๒ ด้าน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกบน ๒ แฉก ด้านข้าง ๒ แฉก และด้านล่าง ๑ แฉก แฉกด้านบนและด้านข้างรูปสามเหลี่ยมตื้น ๆ ยาวประมาณ ๐.๕ มม. แฉกด้านล่างรูปสามเหลี่ยมฐานกว้าง ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ สีแดงเข้มหรือสีม่วงเข้ม บางครั้งพบสีชมพู กลีบกลางรูปรี รูปไข่กว้าง หรือเกือบกลม กว้างและยาว ๑.๒-๒ ซม. ก้านกลีบยาว ๑-๕ มม. ปลายแหลม บริเวณโคนตรงกลางกลีบมีแต้มสีเขียวอ่อนแกมเหลือง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบคู่ข้างรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๙ มม. ยาว ๑-๒ ซม. ปลายมน บริเวณโคนกลีบด้านล่างมีติ่งกลีบยาว ๑-๑.๔ ซม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านกลีบยาว ๑.๕-๔ มม. กลีบคู่ล่างรูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๔-๑ ซม. ยาว ๑-๒ มม. ปลายแหลมหรือกลมมน บริเวณโคนกลีบด้านบนมีติ่งกลีบยาว ๒-๔ มม. รอยพับทางด้านข้างของกลีบคล้ายถุง ยาว ๑-๑.๓ ซม. ก้านกลีบยาว ๒-๖ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๙ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันคล้ายหลอดโอบล้อมเกสรเพศเมีย เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๑ เกสร อยู่ทางด้านบนและแยกเป็นอิสระ ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๒-๒ ซม. เกลี้ยง อับเรณูกว้าง ๐.๒-๐.๖ มม. ยาว ๑-๑.๒ มม. เกลี้ยง จานฐานดอกไม่เด่นชัด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๓-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๕-๖ มม. มีขน ยอดเกสรเพศเมียเล็กมาก

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว ค่อนข้างแบนรูปทรงรี รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือบวมพองจนเกือบเป็นรูปทรงกระบอก กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๗.๕-๒๐ ซม. เกลี้ยง ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง เมล็ดรูปทรงกลมนูน กว้าง ๓.๓-๓.๖ ซม. ยาว ๓-๓.๘ ซม. ผิวเรียบ มี ๑-๓ เมล็ด

 แซะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าดิบแล้ง ตามบริเวณไหล่เขา ริมทาง ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคมเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ เป็นไม้ประดับที่ให้ร่มเงา เนื้อไม้ใช้เผาทำถ่านและฟืน และใช้ในการก่อสร้าง บางพื้นที่ละอองเรณูใช้เป็นส่วนผสมในการทำธูปหอม ยอดอ่อนใช้เป็นผักสด

 พรรณไม้ชนิดนี่เดิมเรียกว่า กาแซะ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แซะ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Callerya atropurpurea (Wall.) Schot
ชื่อสกุล
Callerya
คำระบุชนิด
atropurpurea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Schot, Anne M.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Schot, Anne M. (fl. 1994)
ชื่ออื่น ๆ
กะแซะ (สุราษฎร์ธานี); กาแซะ, ไม้แซะ, ต้นแซะ, หยีน้ำ (ใต้); ยีนิเก๊ะ (มลายู-นราธิวาส); พุงหมู (ตะวันอ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ยศเวท สิริจามร และ ดร.สไว มัฐผา