แง้ม

Pavetta laoticensis Bremek.

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนมีขนสากใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก แผ่นใบมักมีตุ่มหูดหูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ เรียงแบบช่อเชิงหลั่นออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม มี ๒ เมล็ด

แง้มเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๔ ม. กิ่งอ่อนมีขนสาก

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง ๓.๕-๕ ซม. ยาว ๑๒-๑๗ ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลมโคนสอบ แผ่นใบบาง มักมีตุ่มหูดกระจายทั่วไป ด้านบนมีขนสาก ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขนสาก ใบแห้งออกสีดำ หูใบระหว่างก้านใบ ๑ คู่ โคนหูใบติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายยื่นยาวเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ เรียงแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบ โคนช่อไม่มีเกล็ดหุ้ม แต่มีใบประดับ ๒ ใบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๔ แฉกกลีบดอกสีขาว ก่อนโรยสีออกชมพูเรื่อ กลิ่นหอมอ่อนโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปคล้ายทรงกระบอก ยาวประมาณ ๒ ซม. ด้านในมีขนนุ่ม ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ยาวประมาณ ๖ มม. ขอบกลีบซ้อนและบิดเวียนในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดบริเวณใกล้ปากหลอดด้านใน ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปแถบ โผล่พ้นปากหลอดและบิดเมื่อแตกแล้ว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอก ส่วนที่โผล่จะยาวกว่ากลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ พู

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม พอสังเกตเห็นเป็นพูตามยาว ๒ พู ปลายผลมีโคนกลีบเลี้ยงติดทน มี ๒ เมล็ด

 แง้มเป็นพรรณไม้ค่อนข้างหายาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบแล้งที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่ลาวและเวียดนาม

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แง้ม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pavetta laoticensis Bremek.
ชื่อสกุล
Pavetta
คำระบุชนิด
laoticensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bremekamp, Cornelis Eliza Bertus
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1888-1984)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ราชันย์ ภู่มา