แคหิน

Stereospermum colais (Buch.-Ham. ex Dillwyn) Mabb.

ชื่ออื่น ๆ
แคเขา, แคขาว (ใต้); แคทราย, แคนา, แคสัก (ตะวันตกเฉียงใต้); แคฝอย, แคหันแร่ (เหนือ)
ไม้ต้น ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทาใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบย่อย ๗-๙(-๑๓) ใบ เรียงตรงข้ามรูปรีถึงรูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ช่อย่อยแบบช่อกระจุกเชิงประกอบดอกสีเหลืองหม่นหรือสีนวล กลิ่นหอม รูประฆังเบี้ยวผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักยาว รูปคล้ายทรงกระบอกมีสันคมตามยาว ๔ สัน เมล็ดทรงรูปไข่ มีปีกสีขาว

แคหินเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๐-๓๕ ม. ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทา มีร่องตามยาว

 ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ยาว ๒๕-๕๐ ซม.ใบย่อย ๗-๙(-๑๓) ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๖-๑๓ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงยาวคล้ายหางโคนแหลมหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรือด้านล่างอาจมีขนละเอียดประปรายตามเส้นใบ และมีต่อมโปร่งใสขนาดเล็กกระจายทั่วไปและมักพบต่อมขนาดใหญ่ แบน สีคล้ำ กระจายแทรกร่วมอยู่ด้วย เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น แต่ละเส้นปลายโค้งไปเชื่อมต่อกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบย่อยเรียว ยาว ๐.๖-๑.๗ ซม. ไม่มีหูใบ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ยาว ๒๐-๔๐ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนละเอียดประปราย ช่อย่อยแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๓-๔ มม. กลีบดอกด้านในสีเหลืองหม่นหรือสีนวล มีแถบเส้นสีม่วงตามความยาวของกลีบ ด้านนอกของกลีบสีม่วงปนแดง กลิ่นหอม บานกลางวันสมมาตรด้านข้าง กลีบเลี้ยงสีนํ้าตาลอมม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๕-๗ มม. ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๓-๕ แฉก ปลายแหลม เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น คอดแคบ ยาว ๓-๕ มม. แล้วผายออกเป็นรูประฆังเบี้ยว ยาว ๑.๒-๑.๗ ซม. ด้านล่างเป็นร่อง ส่วนปลายหลอดแบนทางด้านข้างทำให้ปากหลอดแคบเข้ามา มีแถบเส้นสีม่วงตามความยาวของกลีบ หลอดกลีบดอกด้านนอกลีปนม่วงแดง แฉก กลีบดอก ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน รูปปากเปิด ซีกบนมี ๒ แฉกโค้งพับไปข้างหลัง ซีกล่างมี ๓ แฉก ปากหลอด มีขนนุ่ม ขอบกลีบยับย่น มีขนละเอียดสีขาว เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อยู่ภายในหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่ตอนบนของหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูคู่สั้นยาวประมาณ ๙ มม. คู่ยาวยาวประมาณ ๑ ซม. โคนก้านชูอับเรณูมีขนล้านชุอับเรณูติด ที่ฐานอับเรณูยาวประมาณ ๑.๕ มม. พูอับเรณูแต่ละข้างกางออกจากกัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๑ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ ๔ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องออวุลจำนวนมาก จานฐานดอกรูปวงแหวน ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย


ยาวประมาณ ๑ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ แฉก แบนคล้ายลี้น

 ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักยาว รูปคล้ายทรงกระบอก กว้าง ๐.๘-๑.๒ ซม. ยาว ๙-๕๕ ซม. โค้งและบิด มีสันคมตามยาว ๔ สัน เปลือกฝักเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ผนังกั้นภายในหนาและคอดเว้าเป็นช่วง ๆ เมล็ดทรงรูปไข่ มีปืกสีขาวแผ่ออกไปทั้ง ๒ ข้างของเมล็ด กว้างประมาณ ๕ มม. ความยาวรวมปีกประมาณ ๒ ซม.

 แคหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบชื้น ป่าดิบเขาโปร่ง ป่าเบญจพรรณ หรือบริเวณทุ่งหญ้าที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๒๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา จีน (ยูนนาน) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แคหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Stereospermum colais (Buch.-Ham. ex Dillwyn) Mabb.
ชื่อสกุล
Stereospermum
คำระบุชนิด
colais
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Buchanan-Hamilton, Francis
- Buchanan-Hamilton, Francis
- Dillwyn, Lewis Weston
- Mabberley, David John
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Buchanan-Hamilton, Francis (1762-1829)
- Buchanan-Hamilton, Francis (1762-1829)
- Dillwyn, Lewis Weston (1778-1855)
- Mabberley, David John (1948-)
ชื่ออื่น ๆ
แคเขา, แคขาว (ใต้); แคทราย, แคนา, แคสัก (ตะวันตกเฉียงใต้); แคฝอย, แคหันแร่ (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ชุมพล คุณวาสี