แคทุ่ง

Dolichandrone columnaris Santisuk

ชื่ออื่น ๆ
แคนา, แคยอดดำ (ใต้)
ไม้ต้น แตกกิ่งต่ำ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มีใบย่อย ๕-๗(-๙) ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ยอด ก้านดอกสั้น ดอกสีขาวหลอดกลีบดอกช่วงล่างยาวกว่าช่วงบนมาก ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักแบน รูปแถบ ผนังเทียมกั้นผล กว้างและหนา เมล็ดรูปสี่เหลี่ยม แบน บาง มีปีกบางใส

แคทุ่งเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. แตกกิ่งตํ่า เกลี้ยงเรือนยอดรูปทรงกระบอกยอดแหลม

 ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ยาว ๑๐-๒๔ ซม. ก้านใบยาว ๐.๓-๒.๒ ซม. ใบย่อย ๕-๗(-๙) ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๓-๑๓ ซม. ปลายสอบเรียว โคนใบย่อยที่ยอดแหลม โคนใบย่อยคู่ข้างเบี้ยว ขอบเรียบ ด้านล่างมีต่อมขนาดเล็กประปรายเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น แต่ละเส้นปลายโค้งไป เชื่อมต่อกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบย่อยยาว ๐.๓-๒.๒ ซม. ไม่มีหูใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ยอด ก้านดอกสั้นทำให้ดอกรวมกันเป็นกระจุก แต่ละช่อมี ๑-๒(-๓) ดอก ก้านดอกเรียว ยาว ๒-๓.๓ ซม. ดอกสีขาวบานกลางคืน สมมาตรด้านข้าง ดอกตูมรูปรีหรือรูปคล้ายกระสวย ปลายแหลม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวอ่อนเชื่อมติดกันตลอด กว้าง ๑.๒-๑.๘ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. ปิด หุ้มในดอกตูม เมื่อดอกบานเปิดออกด้านเดียวไปจนถึงโคนกลีบ ลักษณะคล้ายกาบโค้งพับไปด้านหลัง ร่วงเมื่อแก่ บริเวณช่วงปลายกลีบมีต่อมขนาดเล็กจำนวนมากเรียงกันหนาแน่น กลีบดอก ๕ กลีบ เชื่อมติดกันคล้ายรูปกรวย ยาว ๑๐-๑๗ ซม. หลอดกลีบดอกแยก เป็น ๒ ช่วง ช่วงล่างเป็นหลอดแคบ ยาว ๘-๑๓ ซม. ช่วงบนผายออกคล้ายรูประฆัง กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาว ๒-๓.๔ ซม. แฉกกลีบดอก ๕ แฉก รูปร่างไม่แน่นอนขอบกลีบยับย่น เกสรเพศผู้ ๕ เกสร โผลไม่พ้นหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากันติดอยู่บริเวณส่วนบนของหลอดกลีบดอกตรงตำแหน่งที่หลอดกลีบดอกเริ่มผายออก ก้านชูอับเรณูแต่ละคู่โค้งจรดกัน คู่สันยาวประมาณ ๑.๕ ซม. คู่ยาวยาวประมาณ ๒ ซม. ก้านชูอับเรณูติดกับอับเรณูที่ฐาน อับเรณูยาว ๓-๔ มม. พูอับเรณูแต่ละข้างรูปขอบขนานแกมรูปรีถ่างออกจากกันเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๑ เกสร ลักษณะเป็น เส้นรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนานแคบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก จานฐานดอกรูปวงแหวน ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู ลักษณะพูแบนคล้ายลิ้น

 ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักแบน รูปแถบ กว้าง ๑.๔-๒ ซม. ยาว ๒๖-๖๐ ซม. ปลายสอบแหลม เปลือกฝักเหนียวคล้ายแผ่นหนัง เมื่อแก่แตกเป็น ๒ ซีกและบิดมีผนังเทียม แคบและบาง กว้างและหนา กั้นแบ่งฝักออกเป็นช่วง ๆ ตามยาวเมล็ดรูปสี่เหลี่ยม แบน บาง มีปีกบางใสแผ่ออก ๒ ข้างของเมล็ด กว้าง ๐.๖-๐.๘ ซม. ความยาวรวมปีก ๒.๕-๓ ซม.

 แคทุ่งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคใต้ พบตามทุ่งหญ้าที่มีนํ้าขังและตามคันนาที่สูงใกล้ระดับนํ้าทะเล ออกดอกเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ และ ตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แคทุ่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dolichandrone columnaris Santisuk
ชื่อสกุล
Dolichandrone
คำระบุชนิด
columnaris
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Santisuk, Thawatchai
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1944-)
ชื่ออื่น ๆ
แคนา, แคยอดดำ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ชุมพล คุณวาสี