แข้งกวาง

Wendlandia tinctoria (Roxb.) DC.

ชื่ออื่น ๆ
กว้าวกวาง (เชียงใหม่); แข้งฟาน (ลำปาง); ขอเบ๊าะ, ตะคอเคาะ, พกคั้ง, มอกกาว (แม่ฮ่องสอน); มันปลา (เลย)
ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น เปลือกสีน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขนสาก ใบเรียงตรงข้าม รูปรีถึงรูปไข่กลับ หูใบระหว่างก้านใบปลายเรียวแหลม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีนวล ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม มี ๒ พู เมล็ดมาก

แข้งกวางเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น สูง ๓-๕ ม. เรือนยอดรูปกรวยแหลม ทึบ ลำต้นค่อนข้างเปลา เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้สีขาวแกมน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขนสากประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบของต้นอ่อนเรียงเป็นวง วงละ ๓ ใบ รูปรี รูปรีแกมรูปใบหอกกลับหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง ใบอ่อนอาจมีขนประปรายทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูน ระหว่างเส้นแขนงใบมีทั้งแบบเส้นร่างแหและเส้นขั้นบันได เห็นไม่ชัด ก้านใบเรียวเล็ก ยาว ๑-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบโคนผายออก ปลายหยักคอดแล้วเรียวแหลมแนบกับกิ่ง

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง กว้างได้ถึง ๑๕ ซม. ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ทุกส่วนมีขนสั้นนุ่มทั่วไป ดอกเล็ก สีขาวหรือสีนวล ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันปลายแยก ๔(-๕) แฉก กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๔(-๕) แฉก เกสรเพศผู้ ๔-๕ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม เล็ก มี ๒ พู มีเมล็ดมาก

 แข้งกวางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าเบญจพรรณแล้งหรือป่าแดง ป่าสนเขา และชายป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๕๐-๑,๔๕๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบทั่วไปในเอเชียเขตร้อน.



ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แข้งกวาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Wendlandia tinctoria (Roxb.) DC.
ชื่อสกุล
Wendlandia
คำระบุชนิด
tinctoria
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
ชื่ออื่น ๆ
กว้าวกวาง (เชียงใหม่); แข้งฟาน (ลำปาง); ขอเบ๊าะ, ตะคอเคาะ, พกคั้ง, มอกกาว (แม่ฮ่องสอน); มันปลา (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย