แขม

Saccharum arundinaceum Retz.

ชื่ออื่น ๆ
ตะโป (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); แตร๊ง (เขมร-สุรินทร์); ปง (เหนือ)
ไม้ล้มลุกหลายปี รอบข้อมีตากำเนิดราก ๑ แถว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกย่อยออกเป็นคู่ รูปรี มีก้านและไร้ก้าน มีขนยาวคล้ายไหมที่ก้านและที่โคนช่อดอกย่อยผลแบบผลแห้งเมล็ดติด

แขมเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูงได้ถึง ๕ ม. แตกเป็นกอขนาดใหญ่ ปล้องตัน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ ซม. รอบข้อมีตากำเนิดราก ๑ แถว ข้อตอนโคนต้นอาจยาวได้ถึง ๒ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๐.๘-๒ ม. ปลายเรียวแหลม โคนมน ขอบสาก เส้นกลางใบนูนเด่นชัด สีขาว กาบใบโอบปล้องแน่น ยาวประมาณ ๔๐ ซม. ขอบเกลี้ยงหรือมีขนที่ปลาย ลิ้นใบสั้น ยาวประมาณ ๒ มม. สีน้ำตาล

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง กว้าง ๑๕-๓๐ ซม. ยาว ๐.๓-๑ ม. ก้านช่อดอกและแกนกลางช่อ


เกลี้ยง แต่มีขนยาวคล้ายไหมที่ช่อย่อย ก้าน และโคนของช่อดอกย่อย ช่อดอกย่อยออกเป็นคู่ มีก้านและไร้ก้าน ช่อดอกย่อยไร้ก้านรูปรี ที่โคนมีแคลลัสสั้น มีขน กาบล่างรูปไข่หรือรูปใบหอก ยาวประมาณ ๒.๘ มม. ขอบพับเข้าตามแนวเส้นตามยาว ๒ เส้น มีขนตามสันพับ กาบบนรูปเรือยาวประมาณ ๒.๖ มม. บางใส มีเส้นตามยาว ๓ เส้น เส้นกลางมีขนสาก กาบพับครึ่งตามแนวเส้นกลาง มีดอก ๒ ดอก ดอกล่างเป็นหมันหรือเป็นเพศผู้ กาบล่างรูปแถบ ยาวประมาณ ๒.๖ มม. บางใส มีเส้นตามยาว ๑ เส้น กาบบนไม่มี ดอกบนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กาบล่างรูปแถบ ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายเรียวแหลม กาบบางใส กาบบนเป็นเกล็ดบางใส ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ขอบมีขนยาว กลีบเกล็ด ๒ กลีบ เกสรเพศผู้ ๓ เกสร อับเรณูสีม่วง ยาวประมาณ ๑.๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวเป็นเส้น ๒ เส้น ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่ม สีม่วง ช่อดอกย่อยมีก้านคล้ายช่อดอกย่อยไร้ก้าน แต่กาบทั้ง ๒ กาบมีขนหนาแน่นกว่า และกาบล่างมีเส้นตามยาว ๑ เส้น ก้านยาวประมาณ ๒ มม.

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด

 แขมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามริมฝั่งน้ำ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ใช้ทดลองปรับปรุงพันธุ์อ้อย ในทางสมุนไพรใช้รากต้มน้ำกินเป็นยาเย็น ขับปัสสาวะ และต้นต้มน้ำกินแก้ฝีหนอง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แขม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Saccharum arundinaceum Retz.
ชื่อสกุล
Saccharum
คำระบุชนิด
arundinaceum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Retzius, Anders Jahan
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1742-1821)
ชื่ออื่น ๆ
ตะโป (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); แตร๊ง (เขมร-สุรินทร์); ปง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางชุมศรี ชัยอนันต์