แขนงพร้อย

Phyllanthus collinsae Craib

ชื่ออื่น ๆ
ช้ามะขามป้อม (ตะวันออกเฉียงใต้); เสียว (กลาง); ค่างเต้น, ช้าขามป้อม (ตะวันตกเฉียงใต้)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งเรียวโค้งห้อยลง เรือนยอดแผ่คล้ายรูปร่ม ใบเรียงสลับ รูปแถบแคบ ดอกแยกเพศร่วมต้น ดอกเล็ก สีขาว ออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งและง่ามใบ ห้อยลง ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน เล็ก ห้อยเป็นพวงตามปลายกิ่ง แตกเป็น ๓ เสี่ยง

แขนงพร้อยเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๒-๘ ม. ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไวเปลือกเรียบ สีเทาหรือเทาอมน้ำตาล กิ่งเรียว แผ่กว้าง ปลายกิ่งลู่ลง ทำให้เรือนยอดแผ่เป็นรูปร่ม กิ่งย่อยยาว ๖-๑๕ ซม. ออกเรียงสลับไปตามกิ่งใหญ่ดูคล้ายเป็นช่อใบ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ ค่อนข้างลู่ชิดกันไปทางปลายกิ่ง รูปแถบแคบ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายมนและมักเบี้ยวเล็กน้อย โคนมนหรือสอบและมักเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบาง ใบด้านบนสีเขียว ด้านล่างจางหรือมีนวล เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นไม่ค่อยชัด ส่วนเส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง หูใบคล้ายหนามแหลม สีชมพูอ่อน ติดเป็นคู่ที่โคนก้านใบ ก้านใบสั้นมาก

 ช่อดอกออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ๒-๔ ดอก ตามปลายกิ่งและง่ามใบใกล้ปลายกิ่งย่อย ดอกแยกเพศร่วมต้น ห้อยลง ก้านดอกสีแดงคล้ำ ยาว ๑-๓ มม. ดอกเพศผู้ส่วนใหญ่อยู่ทางโคนกิ่งย่อย ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่ทางปลายกิ่ง ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง ๖ กลีบ สีขาวหรือขาวอมเขียว ไม่ติดกัน รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. กลีบดอกไม่ปรากฏ เกสรเพศผู้มี ๓ อัน โคนก้านชูอับเรณูติดกัน อับเรณูป้อม ดอกเพศเมียมีสีและทุก ๆ ส่วนคล้ายดอกเพศผู้ แต่ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่กลับหรือป้อม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องออวุลมี ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก แข็ง รูปไข่กลับ กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. มี ๓ พูตามยาว

 แขนงพร้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตก ขึ้นตามป่าชายหาดและป่าเหล่าที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐-๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม

 เป็นพรรณไม้เบิกนำ อาจนำมาปลูกเป็นไม้ประดับและป้องกันดินพังได้ดี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แขนงพร้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Phyllanthus collinsae Craib
ชื่อสกุล
Phyllanthus
คำระบุชนิด
collinsae
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
ช้ามะขามป้อม (ตะวันออกเฉียงใต้); เสียว (กลาง); ค่างเต้น, ช้าขามป้อม (ตะวันตกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย