แก้วมือไว

Pterolobium integrum Craib

ชื่ออื่น ๆ
กะแทว (ตะวันออกเฉียงเหนือ), แก้วตาไว (กลาง), ขี้แรด (ตะวันตกเฉียงใต้), เค่นแทว (ตะวันออก)
ไม้เถาเนื้อแข็ง ลักษณะคล้ายแก้วตาไว แต่ดอกสีขาวทั้งดอกและผลมีขนาดเล็กกว่ามาก

แก้วมือไวเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลักษณะใกล้เคียงกับแก้วตาไว ต่างกันที่ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. กลีบดอกลักษณะใกล้เคียงกัน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ฝักเล็ก ส่วนที่มีเมล็ดกว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. ส่วนที่เป็นปีกรูปขอบขนาน ปลายมน กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๒-๓ ซม.

 แก้วมือไวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นในป่าโปร่งและชายป่า บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบในภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แก้วมือไว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pterolobium integrum Craib
ชื่อสกุล
Pterolobium
คำระบุชนิด
integrum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
กะแทว (ตะวันออกเฉียงเหนือ), แก้วตาไว (กลาง), ขี้แรด (ตะวันตกเฉียงใต้), เค่นแทว (ตะวันออก)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม