แก้วขี้ควาย

Merrillia caloxylon (Ridl.) Swingle

ชื่ออื่น ๆ
กะติงกา, กะติงงอ (มลายู-ปัตตานี)
ไม้ต้น กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนสีน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน มีต่อมน้ำมันทั่วแผ่นใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกสีเขียวอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อ ค่อนข้างกลมมีขน

แก้วขี้ควายเป็นไม้ต้น สูง ๓-๘ ม. เปลือกต้นสีเทา หนาแตกเป็นร่องลึกหรือเป็นแผ่นหนา กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกมีขนสีน้ำตาล แต่จะร่วงไปในเวลาต่อมา

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ มีใบย่อย ๗-๑๓ ใบ เรียงสลับลดหลั่นจากเล็กไปหาใหญ่ รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๒.๕-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเบี้ยวมันถึงสอบแคบ มีต่อมน้ำมันเป็นจุดประทั่วทั้งแผ่นใบ ก้านใบประกอบแบนเป็นครีบ ยาว ๔-๑๒ ซม. ใบย่อยที่ปลายรูปขอบขนานแกมรี รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๖-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบแคบ ขอบเป็นคลื่นหรือหยักตื้น ๆ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. ดอกคล้ายดอกส้ม สีเขียวอ่อน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ขอบกลีบซ้อนเหลื่ยมกัน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปแถบ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวเห็นได้ชัด ยอดเกสรเพศเมียแผ่กว้าง

 ผลแบบผลมีเนื้อ กว้าง ๖-๘ ซม. ยาว ๘-๑๐ ซม. มีขนนุ่ม เนื้อในอ่อนนุ่ม เมล็ดรูปไข่ กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. มีเส้นใยหนาเหนียวหุ้ม

 แก้วขี้ควายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นใกล้ลำธารในป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๑๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แก้วขี้ควาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Merrillia caloxylon (Ridl.) Swingle
ชื่อสกุล
Merrillia
คำระบุชนิด
caloxylon
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
- Swingle, Walter Tennyson
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas (1855-1956)
- Swingle, Walter Tennyson (1871-1952)
ชื่ออื่น ๆ
กะติงกา, กะติงงอ (มลายู-ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม