แก้ว

Murraya paniculata (L.) Jack

ชื่ออื่น ๆ
แก้วขาว (กลาง); แก้วขี้ไก่ (ยะลา); แก้วพริก, ตะไหลแก้ว (เหนือ); จ๊าพริก (ลำปาง)
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อย ๕-๙ ใบ สีเขียวเข้มเป็นมัน มีต่อมน้ำมัน ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ๆ ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม จานฐานดอกเป็นวง รูปรีหรือรูปไข่ ผลแบบผลมีเนื้อ ผลแก่สีแดงอมส้ม

แก้วเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. เปลือกต้นสีเทา แตกเป็นร่อง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ แกนกลางยาว ๓-๑๕ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๑-๓ ซม. มีใบย่อย ๕-๙ ใบ เรียงสลับกันจากเล็กไปหาใหญ่ สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบย่อยที่ปลายรูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๒-๗ ซม. ปลายแหลม โคนแหลมหรือสอบ ขอบเป็นคลื่นหรือหยักมนเส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น ใบย่อยที่เหลือขนาดเล็กลดหลั่นลงมา โคนใบเบี้ยวเล็กน้อย

 ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ๆ ออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอก ยาว ๑-๒ ซม. ดอกสีขาว กลิ่นหอม ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เล็กมาก กลีบดอก ๕ กลีบ ร่วงง่าย รูปไข่กลับแกมรูป


ขอบขนาน กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. จานฐานดอกรูปวงแหวนเล็ก ๆ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูเรียวและยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูที่ยาว ๕ อันเรียงสลับกับก้านชูอับเรณูที่สั้น ๕ อัน อับเรณูเล็ก รังไข่เล็ก อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๗ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลมเล็ก ขอบหยักเว้าเล็กน้อย

 ผลแบบผลมีเนื้อ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๕-๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ผลแก่สีแดงอมส้ม ต่อมน้ำมันเห็นได้ชัดเมล็ดรูปไข่ กว้าง ๔-๖ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. มีขนหนาและเหนียวหุ้มรอบเมล็ด

 แก้วมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในป่าดิบแล้งและตามเขาหินปูน บนพื้นที่ราบระดับต่ำไปจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ สมัยหนึ่งนิยมใช้ทำไม้เท้าและแกนเพลาเกวียน ใบใช้เป็นยาฝาดสมาน (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แก้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Murraya paniculata (L.) Jack
ชื่อสกุล
Murraya
คำระบุชนิด
paniculata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Jack, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Jack, William (1795-1822)
ชื่ออื่น ๆ
แก้วขาว (กลาง); แก้วขี้ไก่ (ยะลา); แก้วพริก, ตะไหลแก้ว (เหนือ); จ๊าพริก (ลำปาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์