แก้มแหม่มดอกเล็ก

Syzygium samarangense (Blume) Merr. & L.M.Perry var. parviflorum (Craib) P.Chantaranothai & J.Parn.

ไม้ต้น กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ใบเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนานแคบ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน มีต่อมน้ำมันมาก

แก้มแหม่มดอกเล็กเป็นไม้ต้น สูงประมาณ ๔ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม เปลือกเรียบหรือเป็นเกล็ดสีน้ำตาลแกมเขียวหรือสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนานแคบ กว้าง ๔.๕-๕.๙ ซม. ยาว ๑๑.๕-๑๒.๒ ซม. ปลายแหลมหรือมนโคนรูปหัวใจ มน หรือรูปลิ่มกว้าง เส้นกลางใบด้านบนแบนเส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๙ เส้น เส้นขอบในมี ๒ เส้น ก้านใบยาว ๓-๖ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๘ ซม. ก้านช่อดอกยาวถึง ๑.๕ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ไม่มีก้านดอก ถ้ามีก้านอาจยาวถึง ๑.๘ ซม. ฐานดอกรูปกรวย กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปขอบขนานหรือค่อนข้างกลม ยาว ๕-๗ มม. ขอบกลีบเป็นเยื่อบาง ๆ กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่ กลมโคนคล้ายก้านกลีบ ยาวประมาณ ๑ ซม. โคนกลีบหนา มีต่อมน้ำมันมากกว่า ๒๐๐ ต่อมต่อกลีบ เกสรเพศผู้ที่อยู่รอบนอกสุดมีก้านชูอับเรณูยาว ๗-๙ มม. อับเรณูรูปแถบแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๒ มม. ที่ปลายยอดด้านหลังมีต่อมน้ำมัน ๑ ต่อม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๔ ซม. ยังไม่พบผล

 แก้มแหม่มดอกเล็กเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบที่ จ. ยะลา ขึ้นตามป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๙๐๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แก้มแหม่มดอกเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Syzygium samarangense (Blume) Merr. & L.M.Perry var. parviflorum (Craib) P.Chantaranothai & J.Parn.
ชื่อสกุล
Syzygium
คำระบุชนิด
samarangense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Merrill, Elmer Drew
- Perry, Lily May
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. parviflorum
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Craib) P.Chantaranothai & J.Parn.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
- Perry, Lily May (1895-1992)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ประนอม จันทรโณทัย