แก้มนุ่ม

Mussaenda parva Wall. ex G.Don

ไม้พุ่มรอเลื้อย ยอดอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลทอง ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม มีกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ๑ กลีบ สีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดรูปกลมถึงรูปไข่

แก้มนุ่มเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๑-๒.๕ ม. ยอดอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลทอง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๘-๑๑ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา มีขนสีน้ำตาลทองทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๓-๕ มม. หูใบระหว่างก้านใบรูปใบหอก ยาว ๕-๗ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก มีขนสีน้ำตาลทอง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ช่อดอกและก้านช่อมีขนอุย ก้านช่อดอกยาว ๑.๕-๓ ซม. กลีบเลี้ยงมีขนหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ๔ แฉกเป็นรูปลิ่ม อีก ๑ แฉกขยายใหญ่เป็นรูปซ้อน สีขาว กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาวได้ ถึง ๔.๕ ซม. และมีเส้นคล้ายเส้นแขนงใบ กลีบดอกด้านนอกสีเหลือง ด้านในสีส้ม โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๑.๗-๒.๕ ซม. ปลายหลอดกว้างกว่าโคน แยกเป็น ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดที่ผนังภายในหลอดดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลมถึงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑ ซม. แก่จัดสีเขียวเข้มถึงดำ ปลายผลมีรอยวงกลีบเลี้ยงติดอยู่ เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก

 แก้มนุ่มมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๕๐-๑,๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แก้มนุ่ม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mussaenda parva Wall. ex G.Don
ชื่อสกุล
Mussaenda
คำระบุชนิด
parva
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Don, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Don, George (1798-1856)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ