แก้มขาว

Mussaenda sanderiana Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
กะเบ้อขาว (เลย); กำเบ้อ, ผีเสื้อ (เพชรบูรณ์)
ไม้พุ่มรอเลื้อย ยอดอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลแดง ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามปลายกิ่งดอกสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม มีกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ๑ กลีบ สีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลมหรือรูปไข่

แก้มขาวเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๑-๓ ม. ยอดอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลแดง ต้นและกิ่งแก่มีช่องอากาศสีขาวทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก กว้าง ๔-๕.๕ ซม. ยาว ๘-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา มีขนสีน้ำตาลแดงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น ปลายขนานกับขอบใบ ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปใบหอก ยาวได้ถึง ๖ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามปลายกิ่ง ช่อดอกและก้านช่อมีขน ก้านช่อดอกยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. กลีบเลี้ยงมีขนหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวปลายแยกเป็น ๕ แฉก ๔ แฉกเป็นรูปใบหอก อีก ๑ แฉก ขยายใหญ่เป็นรูปช้อน สีขาวหรือสีนวล กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๔.๕-๖.๕ ซม. มีเส้นที่แยกจากโคนกลีบเห็นได้ชัด กลีบดอกสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๒-๒.๗ ซม. ปลายหลอดกว้างกว่าโคน แยกเป็น ๕ แฉก ยาว ๒-๓ มม. ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ ๑ ซม. เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดเรียงสลับกับกลีบดอกที่ผนังภายในหลอด รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียวเข้มเป็นมันรูปกลมถึงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๙ มม. ปลายผลมีช่องร่างแห เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก

 แก้มขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามชายป่าดิบชื้นและป่าทุ่งหญ้า ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบแถบภูมิภาคอินโดจีน

 นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
แก้มขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mussaenda sanderiana Roxb.
ชื่อสกุล
Mussaenda
คำระบุชนิด
sanderiana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
กะเบ้อขาว (เลย); กำเบ้อ, ผีเสื้อ (เพชรบูรณ์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ