เต้าหลวง

Macaranga gigantea (Rchb. f. et Zoll.) Müll. Arg.

ชื่ออื่น ๆ
ทะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); มะหัง (ปัตตานี); หูช้าง (จันทบุรี)
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผิวหยาบขรุขระ มีช่องอากาศยาวและมีรอยแผลของใบและหูใบ มีกระจุกขนหยาบสีเทาประปราย ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้าง ช่วงปลายใบมักแยกเป็น ๓ แฉก โคนแบบก้นปิด ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ดอกเล็ก สีเขียวอ่อนอมเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก มี ๒ พู รูปทรงค่อนข้างกลม สีเหลือง มีเมือกเหนียว เมล็ดขนาดเล็ก ค่อนข้างแบน มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงเมื่อยังสด

เต้าหลวงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. พบน้อยที่สูงได้ถึง ๒๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางต้นยาวได้ถึง ๓๐ ซม. กิ่งแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง ๓ ซม. ผิวหยาบขรุขระ มีช่องอากาศยาวและมีรอยแผลของใบและหูใบ มีกระจุกขนหยาบสีเทาประปราย เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนถึงสีเทาอ่อน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้าง กว้างได้ถึง ๕๐ ซม. ยาวได้ถึง ๖๐ ซม. ช่วงปลายใบมักแยกเป็น ๓ แฉก แฉกยาวได้ถึง ๗ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนแบบก้นปิด ขอบจักฟันเลื่อยหยาบและมีต่อมเล็กรูปกรวย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบมีขนหยาบสีเทาเป็นกระจุกหรือค่อนข้างเกลี้ยง เส้นใบย่อยมีขนสีขาว ก้านใบติดลึกเข้ามาจากโคนใบ ๔-๑๓ ซม. ยาวได้ถึง ๓๕ ซม. เมื่อตัดตามขวางเป็นรูปครึ่งวงกลม มีขนสั้นนุ่มปนกับขนหยาบสีเทา หูใบรูปขอบขนาน กว้างได้ถึง ๒.๕ ซม. ยาวได้ถึง ๔.๕ ซม. ปลายแหลม บางคล้ายกระดาษ ตั้งตรง ค่อนข้างติดทน เมื่อแห้งสีดำ มีขนสีขาวประปราย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ช่อย่อยเป็นช่อกระจุก ดอกเล็ก สีเขียวอ่อนอมเหลือง ก้านดอกอวบสั้นและแข็ง กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม ไร้กลีบดอกและจานฐานดอก ช่อดอกเพศผู้แยกแขนงแน่น กว้างได้ถึง ๒๔ ซม. ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีเทา แขนงช่อที่ปลายเล็กเรียว ใบประดับรูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้างได้ถึง ๔ มม. ยาวได้ถึง ๑ ซม. ปลายมน ขอบมีขนละเอียดหรือเรียบ บางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นนุ่ม ตั้งตรง ร่วงง่าย ใบประดับย่อยซ้อนทับกันแน่น ติดทน รูปไข่ กว้างได้ถึง ๔ มม. ยาวได้ถึง ๕ มม. ปลายแหลมกว้าง โค้งเล็กน้อย ขอบหยักซี่ฟันไม่เท่ากัน มีขนสั้นหนานุ่มสีเทา ดอกเพศผู้แต่ละกระจุกมี ๑๐-๑๕ ดอก ดอกยาวประมาณ ๑ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๐.๕ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ เกสรเพศผู้ ๒-๓ เกสร อับเรณูมี ๔ ช่อง ช่อดอกเพศเมียคล้ายกับช่อดอกเพศผู้ ยาว ๑๕-๒๕ ซม. ดอกยาวประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท ดอกเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ แฉก ยาวประมาณ ๒ มม. ติดทน

 ผลแบบผลแห้งแตก มี ๒ พู รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๔-๕ มม. สีเหลือง มีเมือกเหนียว ปลายผลมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดทน ก้านผลเล็กเรียว ยาว ๐.๔-๑ ซม. มีขุย เมล็ดขนาดเล็ก ค่อนข้างแบน มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงเมื่อยังสด

 เต้าหลวงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่ารุ่น ที่ต่ำใกล้ระดับทะเลปานกลาง ออกดอกเดือนมกราคมถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา คาบสมุทรมาเลเซีย สุมาตรา บอร์เนียว และสุลาเวสี

 ประโยชน์ ใช้เป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เต้าหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Macaranga gigantea (Rchb. f. et Zoll.) Müll. Arg.
ชื่อสกุล
Macaranga
คำระบุชนิด
gigantea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Reichenbach, Heinrich Gustav
- Zollinger, Heinrich
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Reichenbach, Heinrich Gustav (1824-1889)
- Zollinger, Heinrich (1818-1859)
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean) (1828-1896)
ชื่ออื่น ๆ
ทะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); มะหัง (ปัตตานี); หูช้าง (จันทบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต