เต่าร้างยักษ์

Caryota kiriwongensis Hodel

ชื่ออื่น ๆ
เต่าร้างยักษ์ใต้ (นครศรีธรรมราช)
ปาล์มลำต้นเดี่ยวขนาดใหญ่ ช่วงกลางลำต้นป่อง โคนต้นมีรากพิเศษหนาแน่น มีรอยแผลของกาบใบเป็นแนวขวางตามลำต้นเห็นชัด ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียนเป็นกระจุกที่ปลายยอด ใบย่อยรูปสามเหลี่ยมคล้ายหางปลาถึงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายแหว่งไม่เป็นระเบียบ กาบใบและช่อดอกมีขนยาวนุ่มสีเทาถึงสีน้ำตาลเข้มหนาแน่นและเกล็ดสีน้ำตาลอมแดงกระจายทั่วไป ขอบกาบใบเป็นเส้นใยสีดำสานกันเป็นร่างแห ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ปลายห้อยลง ช่อดอกออกจากยอดสู่โคนต้นแล้วต้นตาย ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม สุกสีแดงอมม่วง ผิวเรียบ มียอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด

เต่าร้างยักษ์เป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว สีน้ำตาลอมเทา สูง ๒๕-๓๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ๗๐-๘๕ ซม. ช่วงกลางลำต้นป่อง โคนต้นมีรากพิเศษหนาแน่น สูงได้ถึง ๒.๕ ม. มีรอยแผลของกาบใบเป็นแนวขวางตามลำต้นเห็นชัด รอยแผลห่างกัน ๒๐-๓๐ ซม.

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียนเป็นกระจุกที่ปลายยอด ยาว ๖-๘.๕ ม. มีใบประกอบ ๘-๑

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียนเป็นกระจุกที่ปลายยอด ยาว ๖-๘.๕ ม. มีใบประกอบ ๘-๑๐ ใบ แต่ละใบประกอบมีช่อใบข้างละ ๒๐-๒๕ ช่อเรียงสลับ แต่ละช่อใบมีใบย่อยได้ถึง ๔๐ ใบ เรียงสลับระนาบเดี่ยว ปลายห้อยลง ใบย่อยรูปสามเหลี่ยมคล้ายหางปลาถึงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง ๑๑-๑๘ ซม. ยาวได้ถึง ๓๕ ซม. ปลายแหว่งไม่เป็นระเบียบโคนสอบเรียวถึงเบี้ยว เส้นจากโคนใบจำนวนมากก้านใบยาว ๓๐-๕๐ ซม. แข็ง เป็นร่องทางด้านบนนูนเด่นชัดทางด้านล่าง กาบใบรูปสามเหลี่ยม มีขนยาวนุ่มสีเทาถึงสีน้ำตาลเข้มหนาแน่นและเกล็ดสีน้ำตาลอมแดงกระจายทั่วไป ร่วงง่าย ขอบเป็นเส้นใยสีดำสานกันเป็นร่างแห

 ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง มี ๓-๕ ช่อ ออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง ๒.๕ ม. ปลายห้อยลง ช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลดจำนวนมาก ยาวได้ถึง ๑.๓ ม. ปลายห้อยลง มีขนยาวนุ่มสีเทาถึงสีน้ำตาลเข้มและเกล็ดสีน้ำตาลอมแดงหนาแน่น ช่อดอกออกจากยอดสู่โคนแล้วต้นตายก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑ ม. ก้านช่อแขนงย่อยมักบวมป่องที่โคน มีใบประดับขนาดใหญ่ ๖-๘ ใบ ติดทน ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็ก ดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปกลม เรียงซ้อนเหลื่อม หนา กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก เรียงจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๖-๑๐๐ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปแถบ แตกตามแนวยาว ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกเพศเมียเล็กกว่าดอกเพศผู้กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก เรียงซ้อนเหลื่อม หนา กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น ๓ แฉก เรียงจดกันในดอกตูม ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันหรืออาจมีได้ถึง ๖ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลมหรือรูปทรงสามเหลี่ยม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ ซม. สุกสีแดงอมม่วง ผิวเรียบ มียอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลาย ผนังผลชั้นกลางมีเนื้อ กลีบเลี้ยงติดทน มีผนึกรูปเข็มที่ทำให้ผิวหนังแสบคัน มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด

 เต่าร้างยักษ์เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยพบทางภาคใต้ มักพบขึ้นเป็นกลุ่มตามป่าดิบเขาที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑,๑๐๐-๑,๒๐๐ ม.

 เต่าร้างยักษ์มีลักษณะคล้ายกันเต่าร้างยักษ์ภูคา (Caryota obtusa Griff.) แตกต่างกันที่เต่าร้างยักษ์มีช่อดอกสั้นกว่าและมีใบในระยะต้นกล้าเป็นใบประกอบ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เต่าร้างยักษ์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Caryota kiriwongensis Hodel
ชื่อสกุล
Caryota
คำระบุชนิด
kiriwongensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hodel, Donald R.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (fl. 1985)
ชื่ออื่น ๆ
เต่าร้างยักษ์ใต้ (นครศรีธรรมราช)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง และนายคุณานนต์ ดาวนุไร