เต็งตานี

Shorea guiso (Blanco) Blume

ชื่ออื่น ๆ
กระบากดำ, กะลันตัน, ยางดำ (นราธิวาส); เข็มช้าง (ตรัง); เชิงชัน, ชัน, เต็งตานี (ตะวันออกเฉียงใต้); ลั
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ เปลือกแตกเป็นสะเก็ด มีขนกระจุกสั้นนุ่มละเอียดและขนละเอียดเกือบทุกส่วน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ตามซอกใบมีตุ่มใบกลวงเป็นขน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง มีปื้นสีน้ำตาลแดงที่โคน มีกลิ่นหอมอ่อนปลายแกนอับเรณูมีรยางค์สั้น มีขนยาว ๓-๔ เส้น ผลแบบผลเปลือกแข็ง ทรงรูปไข่ กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีก ๕ ปีก รูปใบพาย ปีกยาว ๓ ปีก ปีกสั้น ๒ ปีก มีเมล็ด ๑ เมล็ด

เต็งตานีเป็นไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูง ๒๕-๔๐ ม. โคนต้นมีพูพอน เปลือกแตกเป็นสะเก็ด มีขนกระจุกสั้นนุ่มละเอียดและขนละเอียดเกือบทุกส่วน ตายอดรูปไข่ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. เบี้ยวเล็กน้อย ปลายแหลม แหลมยาว หรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มกว้างมน


หรือตัด ขอบเรียบ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๒๒ เส้น เป็นร่องเล็กน้อยทางด้านบน ตามซอกใบมีตุ่มใบกลวงเป็นขน เส้นแขนงใบย่อยคล้ายขั้นบันได เรียงหนาแน่น ก้านใบยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. หูใบรูปไข่ กว้างประมาณ ๕ ม. ยาวประมาณ ๗ มม. ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ยาว ๔-๑๐ ซม. มีขนสั้นกระจุกนุ่มประปราย ช่อย่อยยาว ๑-๒ ซม. มี ๓-๕ ดอก มีกลิ่นหอมอ่อน ใบประดับย่อยขนาดเล็ก ร่วงง่าย ดอกตูมเรียวยาว ยาว ๕-๘ มม. ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ มม. ดอกสีเหลือง มีปื้นสีน้ำตาลแดงที่โคน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวอ่อน รูปไข่ เรียงซ้อนเหลื่อมเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๓ กลีบ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๑.๒-๒ มม. กลีบวงใน ๒ กลีบ กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปแถบ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๒๐-๔๐ เกสร เรียงเป็น ๓ วง ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. มีขนยาว ๑-๒ เส้น ปลายแกนอับเรณูมีรยางค์สั้นกว่าอับเรณูเล็กน้อย มีขนยาว ๓-๔ เส้น อับเรณูมี ๔ พู รูปขอบขนาน ยาว ๐.๒-๐.๕ มม. ติดที่ฐาน แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รังไข่และโคนก้านเกสรเพศเมียรูปไข่ ยาว ๑-๑.๘ มม. กว้าง ๐.๘-๑.๓มม. รังไข่มี ๓ ช่อง แต่ละช่องส่วนมากมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๐.๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก จัก ๓ พู เห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลเปลือกแข็ง ทรงรูปไข่ กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ปลายมีติ่งแหลม ยาวประมาณ ๕ มม. ก้านผลยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีก ๕ ปีก รูปใบพาย ปีกยาว ๓ ปีก กว้าง ๐.๖-๑.๔ ซม. ยาว ๓.๘-๕ ซม. โคนเรียวแคบ ปีกสั้น ๒ ปีก กว้าง ๐.๓-๐.๖ มม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. มีเมล็ด ๑ เมล็ด

 เต็งตานีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย บอร์เนียว สุมาตรา และฟิลิปปินส์

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เต็งตานี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Shorea guiso (Blanco) Blume
ชื่อสกุล
Shorea
คำระบุชนิด
guiso
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blanco, Francisco Manuel
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blanco, Francisco Manuel (1778-1845)
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
กระบากดำ, กะลันตัน, ยางดำ (นราธิวาส); เข็มช้าง (ตรัง); เชิงชัน, ชัน, เต็งตานี (ตะวันออกเฉียงใต้); ลั
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ราชันย์ ภู่มา