เติม

Bischofia javanica Blume

ชื่ออื่น ๆ
กรองประหยัน, กุติ, กุติกรองหยัน, ขมฝาด, จันตะเบือ, ย่าตุหงัน (ยะลา); กระดังงาดง (สุโขทัย); จันบือ (พ
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้น ออกดอกเมื่อแตกใบอ่อน โคนมักมีพูพอน เรือนยอดแน่น ลำต้นคดงอ มียางสีแดง ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๓ ใบ เรียงเวียน ส่วนมากรูปรี รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปไข่ ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงแคบ ออกตามซอกใบและใต้แผลใบเล็กน้อย ดอกสีเหลืองอมเขียว ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เมล็ดทรงรูปไข่กลับ มี ๒-๔ เมล็ด

 เติมเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ ม. ผลัดใบช่วงสั้นออกดอกเมื่อแตกใบอ่อน โคนมักมีพูพอน เรือนยอดแน่นลำต้นคดงอ เปลือกบาง สีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมแดงเมื่อแก่สีเข้มขึ้นและแตกเป็นเกล็ด มียางสีแดง

 ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๓ ใบ เรียงเวียน ใบย่อยส่วนมากรูปรี รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปไข่กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น โคนทู่หรือสอบแคบ ขอบหยักคล้ายฟันเลื่อยแหลมหรือทู่ แผ่นใบคล้ายแผ่นหนังแต่บาง ใบอ่อนสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้ม แก่จัดสีแดงสด เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนมักพบต่อม ๒ ต่อมคล้ายซี่ฟันที่ปลายก้านใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๘ เส้น แต่ละเส้นเชื่อมต่อกันเป็นวงใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๕.๕-๑๖.๕ ซม. ก้านใบย่อยยาวได้ถึง ๖.๕ ซม. ก้านใบย่อยใบกลางยาวกว่าก้านใบย่อยด้านข้าง หูใบรูปเคียว กว้างประมาณ ๑.๗ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. บางคล้ายกระดาษ ร่วงเร็ว

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงแคบ ออกตามซอกใบและใต้แผลใบเล็กน้อย ช่อยาว ๗-๓๐ ซม. ใบประดับรูปใบหอก ขนาด ๑-๓.๕ มม. ร่วงเร็วดอกสีเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ แยกกัน ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ มม. ตาดอกสีแดง ดอกบานสีอมเหลืองก้านดอกยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยงรูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. สีเขียวอ่อน ปลายมน มีขนประปราย ฐานดอกนูนสูงประมาณ ๐.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร แยกกัน


ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๕-๐.๖ มม. สีเขียวอ่อน ติดบนกลีบเลี้ยง อับเรณูกว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. สีเขียวอมเหลืองถึงสีเหลืองอ่อนเกสรเพศเมียเป็นหมัน รูปโล่กว้าง หยัก ๕ พู ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว ๔-๖ มม. มีข้อต่อ ปลายก้านหนา เมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๑ ซม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ กว้าง ๐.๘-๑ มม. ยาว ๒-๔ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย โค้งเข้าในล้อมเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันซึ่งยาวประมาณ ๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีเขียวเกลี้ยง มี ๓ หรือ ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๐.๗ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็ก สีออกขาว ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแยกเป็นแฉกโค้ง ๓ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมกว้างยาว ๐.๗-๑ ซม. ออกเป็นช่อห้อย ยาวได้ถึง ๓๒ ซม. สีเขียวเข้ม แก่สีแดงเข้มถึงสีน้ำตาลอมเหลือง ผนังชั้นนอกหนาคล้ายหนัง ผนังชั้นในแข็งเปราะ แก่ไม่แตกเมล็ดทรงรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๓.๒ มม. ยาวประมาณ ๔.๒ มม. หนาประมาณ ๓ มม. มี ๒-๔ เมล็ด เกลี้ยง เป็นมันเงา มีเนื้อหุ้ม

 เติมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในถิ่นที่อยู่ต่าง ๆ ตั้งแต่ป่าดิบชื้นถึงป่าดิบแล้งป่าสมบูรณ์ถึงป่าที่ถูกแผ้วถาง หรือตามหมู่บ้าน มักขึ้นใกล้น้ำหรือที่ชื้น ตามชายป่า หรือสองข้างทาง ตามเขาหินปูน หรือตามหน้าผา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่นคาบสมุทรมาเลเซีย ภูมิภาคมาเลเซีย ถึงออสเตรเลีย

 ประโยชน์ ใช้เป็นสมุนไพร ผลกินได้ มีรสเปรี้ยวเนื้อไม้ใช้ทำฟืนและทำรั้ว เปลือกหรือยางใช้ย้อมผ้า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เติม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bischofia javanica Blume
ชื่อสกุล
Bischofia
คำระบุชนิด
javanica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
กรองประหยัน, กุติ, กุติกรองหยัน, ขมฝาด, จันตะเบือ, ย่าตุหงัน (ยะลา); กระดังงาดง (สุโขทัย); จันบือ (พ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต