เตยแก้ว

Pandanus dubius Spreng.

ลักษณะคล้ายไม้ต้น แตกกิ่งห่าง ๆ มีรากค้ำจำนวนมาก ขนาดใหญ่และแข็งแรง แต่ส่วนมากมักพบเป็นไม้พุ่ม ลำต้นอ้วนสั้น แตกกอเป็นกระจุกเตี้ย ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแน่น รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น มีกลิ่นหอม ผลแบบผลรวม รูปทรงกลม เมื่ออ่อนมีนวลสีขาว ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งจำนวนมาก รูปทรงรี มี ๕-๖ เหลี่ยม ปลายค่อนข้างแหลม ผนังผลชั้นกลางส่วนบนแข็ง มีเส้นใยตามยาวหนาแน่น ผนังผลชั้นกลางส่วนล่างเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในบางและแข็ง มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดสีขาวอมเหลือง รูปทรงรีกว้างถึงรูปทรงกลม แข็ง มี ๑ เมล็ด

เตยแก้วมีลักษณะวิสัยคล้ายไม้ต้น สูง ๘-๒๐ ม. แตกกิ่งห่าง ๆ มีรากค้ำจำนวนมาก ขนาดใหญ่และแข็งแรง ยาว ๒-๕ ม. มีหนาม แต่ส่วนมากมักพบเป็นไม้พุ่ม ลำต้นอ้วนสั้น แตกกอเป็นกระจุกเตี้ยเนื่องจากโตช้า เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแน่น รูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑๐-๑๖ ซม. ยาว ๑-๕ ม. ปลายเรียวแคบแหลม ปลายสุดเรียวแหลมคล้ายเข็ม ยาว ๕-๘ ซม. โคนแผ่เป็นกาบ ขอบใบมีหนามคล้ายจักฟันเลื่อยเล็ก ๆ ตลอดความยาว แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง สีเขียวเข้ม เป็นมันคล้ายขี้ผึ้งเคลือบ อวบนุ่มและเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ บริเวณโคนใบแข็ง แผ่นใบพับตามยาวเป็นสันคู่ เมื่อตัดตามขวางเห็นเป็นรูปตัวเอ็มกว้าง เส้นกลางใบด้านล่างมีหนาม ใบที่อยู่วงนอกโค้งพับลงประมาณ ๑ ใน ๓ เส้นใบเรียงแบบขนานตามยาว ๑๔๐-๑๗๐ เส้น เส้นใบย่อยชั้นที่ ๓ เกิดตามขวางมีลวดลายคล้ายตาราง เห็นเด่นชัด

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ อวบ ยาวประมาณ ๔๐ ซม. ช่อเชิงลดมีได้ถึง ๑๒ ช่อ แต่ละช่อรูปทรงกระบอก สีขาวนวล ยาว ๑๒-๒๐ ซม. มีกลิ่นหอม ใบประดับสีเหลือง รูปเรือ หนาคล้ายแผ่นหนัง นุ่ม มีหนาม ไร้วงกลีบรวม ดอกเพศผู้มีจำนวนมาก แยกเป็นกลุ่มย่อย ยาว ๐.๗-๑.๔ ซม. เกสรเพศผู้ ๖-๑๕ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๓ มม. อับเรณูยาว ๓-๖ มม. เกสรเพศผู้ติดแบบกึ่งซี่ร่มที่ปลายก้านชูอับเรณูที่เชื่อมกันเป็นหลอดยาว ๔-๖ มม. ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยว รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐-๓๕ ซม. แต่ละช่อดอกมีดอกเพศเมียจำนวนมาก แยกเป็นกลุ่มย่อย ๕๐-๙๐ กลุ่มรูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ ขนาดใหญ่ กว้าง ๔-๗.๕ ซม. ยาว ๙-๑๓.๕ ซม. มีใบประดับสีเหลือง ก้านช่อดอกยาว ๖๐-๘๕ ซม. กลุ่มย่อยเกสรเพศเมียมี ๒-๕ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากถึงไร้ก้าน ยอดเกสรเพศเมียขนาดใหญ่

 ผลแบบผลรวม รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐-๔๐ ซม. เมื่ออ่อนมีนวลสีขาว ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งจำนวนมาก รูปทรงรี กว้างประมาณ ๖ ซม. ยาวประมาณ ๑๐ ซม. หนาประมาณ ๔ ซม. มี ๕-๖ เหลี่ยม ปลายค่อนข้างแหลม บริเวณส่วนปลายประมาณ ๑ ใน ๓ แยกจากกัน สีเขียวอ่อนอมฟ้าอ่อน บริเวณตรงกลางสีน้ำตาลอมส้ม เป็นมันวาวส่วนโคนเป็นเส้นใย สีขาวอมเหลือง ผนังผลชั้นกลางส่วนบนแข็ง ยาว ๔-๗ ซม. มีเส้นใยตามยาวหนาแน่น ผนังผลชั้นกลางส่วนล่างเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ยาว ๓-๕ ซม. ผนังผลชั้นในยาว ๒-๓.๕ ซม. บางและแข็ง มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดสีขาวอมเหลือง รูปทรงรีกว้างถึงรูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๖ ซม. แข็ง มี ๑ เมล็ด

 เตยแก้วเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ ถึงหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตก ในธรรมชาติพบบริเวณชายฝั่งทะเลตามหาดทรายและหาดหิน มีการกระจายพันธุ์และนำเข้ามาปลูกตามชายฝั่งทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้กระถางหรือไม้ประดับในสวน ใบใช้ในงานจักสานแบบหยาบ ๆ เส้นใยจากรากค้ำใช้ทำเชือก เมล็ดรับประทานได้ มีรสชาติคล้ายมะพร้าว เป็นพืชทนเค็มและทนสภาพลมแรงได้ดี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยแก้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus dubius Spreng.
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
dubius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Sprengel, Curt (Kurt, Curtius) Polycarp Joachim
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1766-1833)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์