เตยย่าน

Freycinetia sumatrana Hemsl.

ไม้เถาเนื้อแข็ง แตกกิ่งเป็นพุ่มใหญ่ ลำต้นใหญ่และแข็ง มีรากอากาศตลอดความยาวลำต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ โคนซ้อนเหลื่อม รูปแถบแกมรูปใบหอกยาว ดอกแยกเพศต่างต้น ขนาดเล็ก สีเหลืองนวล ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบคล้ายช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายกิ่ง กาบช่อดอกรูปเรือสีเหลือง มีกลิ่นแรง ผลแบบผลรวม รูปทรงกระบอก ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดจำนวนมาก ผลย่อยส่วนบนแข็ง ส่วนล่างมีเนื้อนุ่ม ผนังผลบางเป็นเยื่อ เมล็ดรูปทรงรีหรือกึ่งรูปกระสวย มีจำนวนมาก

เตยย่านเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง แตกกิ่งเป็นพุ่มใหญ่ ยาวได้ถึง ๒๐ ม. ลำต้นใหญ่และแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘ ซม. มีรากอากาศตลอดความยาวลำต้น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ โคนซ้อนเหลื่อม รูปแถบแกมรูปใบหอกยาว กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๐.๖-๑.๔ ม. ปลายเรียวแหลม โคนเป็นกาบสีขาวหรือสีแดงอมม่วงในใบอ่อน ขอบมีหนามตลอดความยาว แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเข้มด้านล่างสีเขียวอ่อนและมักมีนวล เส้นใบจำนวนมาก เรียงขนานถี่ตามยาว กาบใบมีติ่งใบข้างละ ๑ ติ่ง สีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาลอมม่วงอ่อน บางคล้ายเยื่อ ปลายติ่งเรียวแหลมหรือแยกเป็นแฉกและมักจักซี่ฟันห่าง ๆ ขอบเรียบ

 ดอกแยกเพศต่างต้น ขนาดเล็ก สีเหลืองนวล ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบคล้ายช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายกิ่ง กาบช่อดอกรูปเรือ สีเหลือง มีกลิ่นแรง วงนอกสุดขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายใบ ส่วนวงในขนาดเล็กกว่า กาบช่อดอกเพศผู้มักร่วงหลังดอกบาน ส่วนในช่อดอกเพศเมียมักติดทนจนเป็นผล ช่อดอกเพศผู้ประกอบด้วยช่อเชิงลดมีกาบ รูปทรงกระบอก มี ๓-๔ ช่อ แต่ละช่อกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๗.๕ ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก เรียงอัดแน่นบนแกน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. มีปุ่มเล็ก อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. ช่อดอกเพศเมียประกอบด้วยช่อเชิงลดมีกาบ รูปทรงค่อนข้างกลมถึงรูปทรงกระบอก สีเขียวถึงสีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแดง มี ๓-๔ ช่อ เรียงเวียน แต่ละช่อดอกยาว ๑๖-๑๙ ซม. ดอกเพศเมียเรียงอัดกันแน่นบนแกน ก้านช่อดอกยาว ๙-๑๐ ซม. เกลี้ยง สีเขียวอมเหลืองอ่อน ดอกเพศเมียมักมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันขนาดเล็ก เกสรเพศเมียมี ๑ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมีย ๒-๔ ยอด ส่วนมากมี ๒ ยอด

 ผลแบบผลรวม รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๔ ซม. ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ก้านผลยาว ๒-๔ ซม. ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดจำนวนมาก ผลย่อยส่วนบนแข็ง ส่วนล่างมีเนื้อนุ่ม ผนังผลบางเป็นเยื่อ เมล็ดรูปทรงรีหรือกึ่งรูปกระสวย กว้าง ๐.๕-๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีจำนวนมาก

 เตยย่านมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบ บึงน้ำจืด และป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และภูมิภาคมาเลเซีย.

 ประโยชน์ ใบใช้สานตะกร้า เสื่อ และทำงานฝีมือต่าง ๆ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยย่าน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Freycinetia sumatrana Hemsl.
ชื่อสกุล
Freycinetia
คำระบุชนิด
sumatrana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hemsley, William Botting
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1843-1924)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์