เตยน้อย

Pandanus obconicus H. St. John

ลักษณะคล้ายไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแกมรูปดาบ ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ กาบช่อดอกสีขาวหรือสีขาวนวล รูปคล้ายใบ ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น รูปทรงรีแกมรูปทรงค่อนข้างกลม ผลแบบผลรวม รูปทรงรี ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งจำนวนมาก รูปทรงกระบอกแกมรูปใบหอกกลับ มี ๕-๗ เหลี่ยม แบนข้างอย่างชัดเจน ปลายผลลักษณะคล้ายหมวกเห็ดรูปพีระมิด ๖ เหลี่ยม ผนังผลชั้นกลางส่วนบนมีลักษณะเป็นไส้ไม้ ส่วนล่างเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับ ผนังด้านในสีน้ำตาลเข้ม เป็นมันวาว มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน ลักษณะคล้ายเขา สีน้ำตาล เป็นมันวาว เมล็ดรูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ มี ๑ เมล็ด

เตยน้อยมีลักษณะวิสัยคล้ายไม้พุ่มหรือไม้ต้น ลำต้นสั้นหรือสูงได้ถึง ๓ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบแกมรูปดาบ กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๑.๒-๓.๕ ม. ปลายค่อย ๆ เรียวแหลมไปจนถึงปลาย ปลายสุดเรียวเป็นเส้น โคนตัดเชื่อมติดกับลำต้น หนาคล้ายแผ่นหนัง สีม่วงอมน้ำตาลแดง ขอบใบใกล้โคนมีหนามรูปลิ่ม ยาว ๒-๔ มม. แต่ละหนามห่างกัน ๒-๓.๕ ซม. บริเวณช่วงกลางแผ่นใบหยักซี่ฟันขนาดเล็กกว่าและเอนแนบ บริเวณใกล้ปลายใบหยักซี่ฟัน ยาวประมาณ ๑ มม. หรือน้อยกว่า แต่ละหยักห่างกัน ๓-๕ มม. เส้นกลางใบบริเวณใกล้โคนมีหนามสีเข้ม เรียว โค้ง ยาว ๒.๕-๓ มม. แต่ละหนามห่างกัน ๑.๕-๕ ซม. ช่วงกลางแผ่นใบมักไร้หนาม เส้นกลางใบบริเวณใกล้ปลายใบหยักซี่ฟันเล็ก ๆ ยาว ๐.๕-๑ มม. แต่ละหยักห่างกัน ๐.๕-๑ ซม. เส้นใบมักขนานกันจากโคนใบไปสู่ปลายใบ เห็นไม่ชัด

 ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ กาบช่อดอกสีขาวหรือสีขาวนวล รูปคล้ายใบ ดอกเพศผู้จำนวนมาก แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก เกสรเพศผู้โคนเชื่อมติดกัน ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น รูปทรงรีแกมรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๖-๑๐ ซม. ยาว ๗-๑๒ ซม. ออกเดี่ยว ก้านช่อดอกยาว ๑๕-๑๗ ซม. บริเวณส่วนปลายหนา ๘-๙ มม. ค่อย ๆ เรียวเล็กลงไปยังส่วนโคน ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓.๕-๖ มม. อ้วนสั้น แข็ง ลักษณะคล้ายเขา ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียรูปใบหอกหรือแยกเป็น ๒ แฉก ยาว ๓-๔ มม. สีน้ำตาล มีปุ่มเล็ก

 ผลแบบผลรวม รูปทรงรี กว้าง ๙-๑๐ ซม. ยาว ๑๒-๑๕ ซม. ก้านช่อผลยาวได้ถึง ๕๖ ซม. ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งจำนวนมาก มีประมาณ ๗๐๐ ผล รูปทรงกระบอกแกมทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๗-๑.๑ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. มี ๕-๗ เหลี่ยม แบนข้างอย่างชัดเจน ปลายผลลักษณะคล้ายหมวกเห็ดรูปพีระมิด ๖ เหลี่ยม เมื่อผลแห้งส่วนปลายแต่ละผลย่อยแยกออกจากกันประมาณ ๑ ใน ๔ ของผล ผนังผลชั้นกลางส่วนบนประมาณ ๕ มม. มีลักษณะเป็นไส้ไม้ ส่วนล่างเป็นเส้นใยและมีเนื้อ ผนังผลชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับ หนา ๐.๕-๑ มม. ผนังด้านในสีน้ำตาลเข้ม เป็นมันวาว ด้านนอกสีอ่อนกว่า มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน สีน้ำตาล เป็นมันวาว ส่วนใหญ่ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแยกครึ่งหนึ่งของความยาวเป็น ๒ แฉก ปลายแฉกเรียวแหลม ลักษณะคล้ายเขา เมล็ดรูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ ยาว ๐.๙-๑.๒ ซม. มี ๑ เมล็ด

 เตยน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบบริเวณที่ลุ่มมีน้ำขัง ในป่าดิบแล้ง บนเขาหินทราย ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่เวียดนามและกัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus obconicus H. St. John
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
obconicus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- St. John, Harold
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1892-1991)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์