เตยทะเล

Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze

ชื่ออื่น ๆ
ปาหนัน, ปาแนะ (มลายู-นราธิวาส); ลำเจียก (กลาง)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ลำต้นตั้งขึ้นหรือทอดชูยอด มักแตกกิ่งออกมาจากจุดเดียว มีรอยแผลใบเป็นวงห่าง ๆ มีรากค้ำใบเดี่ยว เรียงเวียน เป็น ๓ แถว หนาแน่นตามปลายกิ่ง รูปแถบหรือรูปใบดาบ ขอบขนาน ค่อย ๆ เรียวแหลมไปยังปลายใบ ดอกแยกเพศต่างต้น ไม่มีวงกลีบรวม ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดเชิงประกอบ ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่น ผลแบบผลรวม รูปทรงเกือบกลมหรือรูปทรงรี ห้อยลง ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง แต่ละผลแยกเป็นอิสระเรียงชิดกันแน่น ผนังชั้นนอกเมื่อแก่สีแดงอมส้ม มีเส้นใย ผนังผลชั้นในสีน้ำตาลอมแดง เมล็ดรูปกระสวยถึงทรงรูปไข่กลับ มี ๑ เมล็ด

เตยทะเลเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๔ ม. ลำต้นตั้งขึ้นหรือทอดชูยอด มีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๒๐ ซม. มีรอยแผลใบเป็นวงห่าง ๆ มักพบแตกกิ่งออกมาจากจุดเดียว แล้วโค้งขึ้นจนปลายกิ่งอยู่ในระดับเดียวกัน อาจพบการแตกกิ่งแบบแยกครั้งละสอง แบบแยกสาม หรือแบบไม่สม่ำเสมอ ลำต้นและกิ่งมักมีหนามยาวได้ถึงประมาณ ๑ ซม. มีรากค้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๑๐ ซม. ที่โคนลำต้น อาจพบหน่อออกจากโคนต้น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน เป็น ๓ แถว หนาแน่นตามปลายกิ่ง รูปแถบหรือรูปใบดาบ ขอบขนาน ค่อย ๆ เรียวแหลมไปยังปลายใบ กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๑-๒ ม. อาจพบใบยาวได้ถึง ๓ ม. ใบอ่อนสั้น ปลายแหลมทู่ มีหนามตามขอบใบ ใบแก่ปลายเรียวสอบแคบเป็นหนามเรียวยาวรูปสามเหลี่ยม โคนหนาเป็นร่อง ไร้ก้านโอบหุ้มรอบลำต้นส่วนที่โอบหุ้มต้นสีออกขาวหรือสีเขียวอ่อน ค่อย ๆ บางลงไปยังขอบใบ ขอบใบและเส้นกลางใบด้านล่างมีหนามแหลม เรียงห่าง ๆ ยาว ๐.๕-๑ ซม. แผ่นใบหนา มีนวลทั้ง ๒ ด้าน ปรกติสีเขียว อาจพบต้นที่มีใบด่างเป็นแถบตามยาวสีขาวหรือสีเหลือง แผ่นใบพับตามยาวเป็นสันคู่ เส้นใบเรียงแบบขนานถี่ตามยาว จำนวน ๔๐-๑๖๐ เส้น เห็นไม่ชัด

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดเชิงประกอบ ยาว ๓๐-๖๐ ซม. มักประกอบด้วยช่อเชิงลด ๕-๑๑ ช่อ แต่ละช่อยาว ๕-๑๐ ซม. ใบประดับสีขาวถึงสีนวลหรือสีเหลือง คล้ายรูปเรือหรือรูปใบหอก ยาวน้อยกว่า ๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม ไม่มีวงกลีบรวม ดอกเพศผู้แยกเป็นกลุ่มย่อย มีกลิ่นหอม ยาว ๑-๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๙-๒๖ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๕-๒ มม. อับเรณูรูปเงี่ยงลูกศร ยาว ๒-๓.๕ มม. ปลายมีรยางค์แหลมยาว ๐.๕ มม. ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่นออกเดี่ยว รูปทรงกลมถึงรูปทรงรี กว้าง ๑๒-๒๐ ซม. ยาว ๑๕-๓๐ ซม. แต่ละช่อประกอบด้วยเกสรเพศเมียจำนวนมาก



แยกเป็นกลุ่มย่อยรูป ๕-๖ เหลี่ยม จำนวน ๒๖-๑๔๐ กลุ่ม ใบประดับกึ่งมีเนื้อ รูปเรือ มีหนามตามขอบและเส้นกลางใบ ก้านช่อดอกยาว ๑๐-๓๐ ซม. กลุ่มย่อยขณะยังอ่อนสีขาวอมเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีส้มอมแดง กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. มีดอกจำนวนมาก เกสรเพศเมียมี ๔-๑๐ เกสร เชื่อมกันและเรียงร่วมศูนย์กลาง กลุ่มที่อยู่บริเวณโคนช่อมักโค้งและสั้น มีจำนวนเกสรเพศเมียมากกว่ากลุ่มที่อยู่ด้านข้างหรือส่วนปลายช่อดอก แต่ละดอกมีเกสรเพศเมีย ๑ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียเว้าลึกหรือเป็นแอ่งลึก

 ผลแบบผลรวม รูปทรงเกือบกลมหรือรูปทรงรียาวได้ถึง ๓๐ ซม. มีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๒๐ ซม. ห้อยลง ผลย่อยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ รูปไข่กลับเป็นเหลี่ยม เมื่อแก่แยกจากกัน ยาว ๓-๘ ซม. ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง แต่ละผลแยกเป็นอิสระเรียงชิดกันแน่นโคนเชื่อมติดกันเป็นเส้นใย ผนังชั้นนอกเมื่อแก่สีแดงอมส้ม มีเส้นใย ผนังผลชั้นในสีน้ำตาลอมแดง ผลมียอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปกระสวยถึงทรงรูปไข่กลับยาว ๑-๑.๒ ซม. มี ๑ เมล็ด

 เตยทะเลมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามหาดทราย ป่าชายหาด บึงน้ำกร่อย และป่าชายเลน รวมถึงพื้นที่บริเวณริมลำธารที่ไกลจากชายฝั่งทะเลที่สูงใกล้ระดับทะเลปานกลาง ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบทั่วไปในเอเชียตามหมู่เกาะและชายฝั่งทะเล และเกาะฮาวาย

 ประโยชน์ ใบใช้จักสาน ช่อดอกเพศผู้ใช้ทำเครื่องหอม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตยทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
odorifer
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Forsskål, Pehr
- Kuntze, Carl Ernst Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Forsskål, Pehr (1732-1763)
- Kuntze, Carl Ernst Otto (1843-1907)
ชื่ออื่น ๆ
ปาหนัน, ปาแนะ (มลายู-นราธิวาส); ลำเจียก (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์